Factors Affecting Instant Noodles Consumer Buying Behaviors and Decisions in Bangkok
โดย สุนิมล ปั๋นวงศ์
ปี 2549
บทคัดย่อ(Abstract)
จากการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อและพฤติกรรมการซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร โดยวิธีการศึกษาจะเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 ตัวอย่าง และทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีเชิงพรรณนา ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเชิงอนุมานด้วยการทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ ที่ ระดับความเชื่อมั่นที่ 95 เปอร์เซ็นต์
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเพศหญิงชอบรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากกว่าเพศชาย เพราะหาซื้อได้ง่ายและสะดวกในการรับประทาน ส่วนใหญ่จะนิยมรับประทานแบบเส้นเหลืองชนิดซอง อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ส่วนใหญ่จะบริโภคในช่วงเวลาตอนกลางคืน โดยวิธีการรับประทานจะใช้วิธีการเติมน้ำร้อนและต้มให้สุก ในการตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่จะซื้อด้วยตนเอง สถานที่ที่กลุ่มตัวอย่างนิยมไปซื้อมากที่สุด คือ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยมีความถี่ในการซื้อเดือนละครั้ง ซึ่งลักษณะการซื้อจะนิยมซื้อแบบหลายยี่ห้อหลายรสชาติครั้งละ 2-3 ซอง ยี่ห้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นิยมรับประทาน คือ ยี่ห้อมาม่า รสชาติต้มยำกุ้งเป็นรสชาติที่นิยมรับประทานมากที่สุด แรงจูงใจอันดับแรกที่รับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือ เห็นโฆษณาแล้วอยากทดลอง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะได้รับข้อมูลผ่านสื่อโทรทัศน์มากที่สุด สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พบว่า
ปัจจัยทางด้านผลิตภัณฑ์คือ ความสะดวกในการบริโภค ปัจจัยทางด้านราคาคือ ราคามีความเหมาะสมปัจจัยทางด้านช่องทางการจัดจำหน่ายคือ การหาซื้อได้ง่าย ปัจจัยทางด้านการส่งเสริมการตลาดคือการมีโฆษณาดึงดูดใจ ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า
– ปัจจัยด้านเพศมีความสัมพันธ์ต่อความถี่ในการซื้อ และปริมาณการซื้อ
– ปัจจัยด้านอายุมีความสัมพันธ์ต่อช่วงเวลาในการบริโภค ความถี่ในการซื้อ และปริมาณการซื้อ
– ปัจจัยด้านระดับการศึกษามีความสัมพันธ์ต่อความถี่ในการซื้อ และปริมาณการซื้อ
– ปัจจัยด้านสถานภาพการสมรสมีความสัมพันธ์ต่อความถี่ในการบริโภค ช่วงเวลาในการบริโภค ความถี่ในการซื้อ และปริมาณการซื้อ
– ปัจจัยด้านรายได้มีความสัมพันธ์ต่อความถี่ในการบริโภค และความถี่ในการซื้อ
– ปัจจัยด้านระดับการออมมีความสัมพันธ์ต่อความถี่ในการบริโภค และความถี่ในการซื้อ
– ปัจจัยด้านลักษณะการพักอาศัยมีความสัมพันธ์ต่อความถี่ในการบริโภค และความถี่ในการซื้อ
– ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์มีความสัมพันธ์ต่อความถี่ในการซื้อ และปริมาณการซื้อ
– ปัจจัยด้านราคามีความสัมพันธ์ต่อความถี่ในการบริโภค
– ปัจจัยด้านช่องทางการจัดจำหน่ายมีความสัมพันธ์ต่อปริมาณการซื้อ
– ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาดมีความสัมพันธ์ต่อความถี่ในการบริโภค ช่วงเวลาในการบริโภค และความถี่ในการซื้อ
ข้อเสนอแนะควรมีการพัฒนารสชาติใหม่ๆ โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการผู้บริโภคที่จะได้รับ และเน้นการส่งเสริมการตลาดคือ การออกบูทให้ทดลองชิม และการลดราคา
Comments are closed.