A study satisfaction of women reader toward CLEO magazine in Bangkok and Boundary
โดย เบญจวรรณ เทศทอง
ปี 2549
บทคัดย่อ (Abstract)
การค้นคว้าอิสระมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึง ความพึงพอใจของผู้อ่านนิตยสาร CLEOกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือผู้อ่านนิตยสาร CLEO ที่เป็นสตรีในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 400 ตัวอย่าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว โดยใช้ One Way ANOVA และสถิติสัมประสิทธิ์สัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่มีอายุ 21-23 ปี มีสถานภาพโสด การศึกษาปริญญาตรี เป็นพนักงานบริษัท/รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ มีรายได้ 15,001-20,000 บาท/เดือน ได้พบเห็นหรือรู้จักนิตยสาร CLEO ครั้งแรกจากการวางจำหน่ายที่ร้าน หรือแผงหนังสือสำหรับเนื้อหาที่ผู้อ่านให้ความสนใจมากที่สุด คือ เนื้อหาในเรื่องแฟชั่น และความงาม รองลงมาเป็นเนื้อหาเรื่องสุขภาพ และเซ็กซ์ และเนื้อหาด้านการทำงาน ตามลำดับ
ด้านเนื้อหาของนิตยสาร CLEO ผู้อ่านมีความพึงพอใจมากที่สุดคือ เนื้อหาเรื่องแฟชั่นและความงาม และมีความพึงพอใจในเนื้อหาเรื่องการแนะนำเกี่ยวกับการทำงาน การให้ความรู้ การแนะนำในเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และด้านสุขภาพและเซ็กซ์ อยู่ในระดับปานกลาง
ด้านการนำสิ่งที่ได้รับจากการอ่านนิตยสาร CLEO ไปใช้ประโยชน์ ผู้อ่านมีความพึงพอใจมากที่สุดคือ นำไปใช้เพื่อผ่อนคลาย และเพื่อความเพลิดเพลิน และมีความพึงพอใจในการนำไปใช้เป็นสื่อกลางในการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำไปใช้เพื่อปรับปรุงบุคลิกภาพ นำไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อซื้อสินค้า และบริการ และนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพของตนเองอยู่ในระดับปานกลาง
ด้านภาพรวมของนิตยสารผู้อ่านมีความพึงพอใจมาก ในเรื่องปริมาณ และคุณภาพของเนื้อหาสาระ และมีความพึงพอใจด้านการจัดจำหน่ายนิตยสารทั้งด้านเวลาที่วางจำหน่าย และสถานที่จำหน่าย ด้านกิจกรรม และของสมนาคุณของนิตยสาร ด้านความคุ้มค่าคุ้มราคาของนิตยสาร และด้านเนื้อหาโฆษณาที่ปรากฏในนิตยสารอยู่ในระดับปานกลาง-มาก
ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่าลักษณะทางด้านประชากรศาสตร์ คือ ระดับอายุ และอาชีพที่แตกต่างกันของผู้อ่าน จะมีผลต่อความพึงพอใจของผู้อ่านแตกต่างกัน แต่ความแตกต่างของสถานภาพทางครอบครัว ระดับการศึกษา และรายได้จะมีผลต่อความพึงพอใจของผู้อ่านไม่แตกต่าง
ทางด้านความสัมพันธ์พบว่า ระดับอายุ และระดับรายได้ของผู้อ่านมีความสัมพันธ์กับระดับความพึงพอใจ แต่ระดับการศึกษาของผู้อ่านไม่มีความสัมพันธ์กับระดับความพึงพอใจของผู้อ่าน