The Eepectation and Attitude of Personnel on the Image of Dean’s Leadership Condition Case Study : Rajamangala University of Technology
โดย นุชนาฏ จันทรา
ปี 2552
บทคัดย่อ (Abstract)
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาถึงรูปแบบภาวะผู้นำของคณบดีที่ปรากฏจริงในปัจจุบัน และรูปแบบภาวะผู้นำของคณบดีตามทัศนคติและความคาดหวังของบุคลากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รวมถึงศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติและความคาดหวังเกี่ยวกับรูปแบบภาวะผู้นำของคณบดีกับความแตกต่างทางด้านเพศ การศึกษา และสถานภาพของบุคลากรกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ข้าราชการ (สายสอน) ข้าราชการ (สายสนับสนุน) พนักงานของรัฐ (1.3) พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 379 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากกลุ่มประชากรทั้ง 9 มหาวิทยาลัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ การหาค่าร้อยละ การแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานการทดสอบค่า t – test และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One – way ANOVA)
ผลการศึกษา พบว่า รูปแบบภาวะผู้นำของคณบดีที่ปรากฏจริงในการทำงานของคณะในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มีทั้ง 3 รูปแบบ กล่าวคือ ผู้นำแบบประชาธิปไตย เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้นำแบบเผด็จการแบบมีศิลป์ และผู้นำแบบเผด็จการ เป็นรูปแบบที่พบน้อยที่สุด และรูปแบบภาวะผู้นำของคณบดีตามทัศนคติและความคาดหวังของบุคลากรที่ต้องการให้มีมากที่สุด คือ รูปแบบภาวะผู้นำแบบประชาธิปไตย สำหรับทัศนคติและความคาดหวังของบุคลากรที่มีต่อรูปแบบผู้นำของคณบดี โดยจำแนกตามเพศ การศึกษา และสถานภาพ นั้น พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ต่อรูปแบบเผด็จการและรูปแบบประชาธิปไตย