Participation and Acceptance of the Regular Employees’ Activity Sharing in the Oil Business Working Safety Promotion : Thai Petroleum Pipeline co., Ltd., Lum Look Ka district, Pathum Thani
โดย ศุภกิจ ทองเอม
ปี 2550
บทคัดย่อ (Abstract)
การค้นคว้าอิสระครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมและการยอมรับของพนักงานประจำที่มีต่อกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานธุรกิจน้ำมันของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด เขตลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ด้านระดับการมีส่วนร่วมและการยอมรับฯ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมและการยอมรับฯ และเพื่อเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมและการยอมรับฯ ระหว่างพนักงานประจำที่มีตัวแปรส่วนบุคคลแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการค้นคว้าอิสระครั้งนี้คือ พนักงานประจำของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด เขตลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าครั้งนี้จำนวนทั้งหมด 142 ตัวอย่าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) วิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์โดยใช้สถิติวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวแปร (Simple Correlation Analysis)รวมทั้ง สถิติทดสอบ คือ One Way Anova ใช้การทดสอบความแตกต่างมากกว่า 2 กลุ่ม และการทดสอบค่าที Independent t-test กับกลุ่มตัวอย่างที่มี 2 กลุ่ม สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS 13.0 for Windows
ผลการวิจัย พบว่า พนักงานประจำของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด เขตลำลูกกาจังหวัดปทุมธานีที่ศึกษา จำนวน 142 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สังกัดฝ่ายปฏิบัติการ (OPD) อายุอยู่ในช่วง 36-45 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี และมีระดับเงินเดือนในช่วงเกิน 30,000 บาทขึ%นไปส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการทำงานในบริษัทฯ เป็นระยะเวลา 6 ปีขึ้นไป และเห็นว่างานที่รับผิดชอบมีความเสี่ยงต่ออันตรายมาก แต่นายจ้างเอาใจใส่มากเกี่ยวกับความปลอดภัยฯ ซึ่งส่วนใหญ่เคยได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยที่นายจ้างจัดขึ้น ประกอบกับเคยเสนอแนะเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้าง และเข้าร่วมทุกกิจกรรม จึงไม่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดจากการทำงาน ทั้งนี้ ระดับการมีส่วนร่วมและการยอมรับฯสรุปได้ว่า พนักงานประจำให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการยอมรับฯ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
สำหรับการทดสอบสมมติฐานข้อที่ 1 พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของพนักงานประจำในกิจกรรมฯ คือ อายุ ระดับการศึกษา และระดับรายได้ ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับการยอมรับของพนักงานประจำในกิจกรรมฯ คือ ระดับการศึกษา โดยมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ 0.05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ส่วนปัจจัยเกี่ยวกับการทำงานที่มีความสัมพันธ์ กับการมีส่วนร่วมและการยอมรับฯ ได้แก่ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย และพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านความปลอดภัย เป็นต้นโดยมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ 0.05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนสมมติฐานข้อที่ 2 พนักงานประจำที่มีตัวแปรส่วนบุคคลแตกต่างกันมีส่วนร่วมและการยอมรับต่อกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานธุรกิจน้ำมันแตกต่างกัน อาทิ ระดับการศึกษาและระดับเงินเดือน ของพนักงานประจำที่แตกต่างกัน มีส่วนร่วมและการยอมรับฯ แตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย
1. การมีส่วนร่วมของพนักงานประจำที่มีต่อกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานธุรกิจน้ำมัน พบว่า การมีส่วนร่วมของพนักงานประจำที่มีต่อกิจกรรมฯ ด้านการวางแผนโดยรวม และด้านการปฏิบัติงานโดยรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น จึงควรหาวิธีการสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้กับพนักงานประจำได้ตระหนักถึงอุบัติเหตุและอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน และพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในด้านการวางแผน และด้านการปฏิบัติงานให้มากขึ้น
2. การยอมรับของพนักงานประจำที่มีต่อกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานธุรกิจน้ำมัน พบว่า การยอมรับของพนักงานประจำที่มีต่อกิจกรรมฯ ด้านการรณรงค์โดยรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความพึงพอใจ ทัศนคติ จิตสำนึกและความรู้ความเข้าใจของพนักงานประจำในทุกระดับปฏิบัติการ ในการทำงานอย่างปลอดภัยและเกิดความร่วมมือในการดูแลให้องค์กรนั้นมีความปลอดภัยตลอดเวลา และเป็นที่ยอมรับในระดับแนวหน้าของกลุ่มธุรกิจน้ำมัน บริษัทฯ จึงควรมีการปรับปรุงพัฒนากิจกรรมด้านการรณรงค์ให้ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมออันจะส่งผลให้พนักงานประจำมีการยอมรับในกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานมากยิ่งขึ้น