Perception of the Thai Health Promotion Foundation Advertisement Affecting the Life of People in Bangkok
โดย สุพรรษา แก้วอยู่
ปี 2550
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ข้อมูลกิจกรรมนันทนาการ และข้อมูลการรับรู้สื่อโฆษณาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพมีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการสำรวจผู้ที่ดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 4.5 ดีกรีขึ้นไปหรือผู้เคยดื่มแต่ปัจจุบันเลิกดื่มแล้วจำนวน 400 ชุด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้ทดสอบสมมติฐานค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันเพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแปร การวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยประชากร 2 กลุ่ม (Independent Sample t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวของประชากรมากกว่า 2 กลุ่มขึ้นไป (One Way ANOVA) หากพบความแตกต่างจะทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่โดยใช้วิธี LSD (Least Significant Difference)
ผลจากการศึกษาวิจัย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในครั้งนี้ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงส่วนใหญ่มีอายุ 28-32 ปี ระดับการศึกษาคือปริญญาตรี มีอาชีพลูกจ้างเอกชน และมีสถานภาพสมรสส่วนใหญ่ปัจจุบันยังดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ สำหรับผู้ที่เลิกดื่มให้เหตุผลในการเลิกดื่มเพราะคนในครอบครัวขอร้อง ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกิจกรรมนันทนาการในระดับมากคือการพักผ่อนตามสถานท่องเที่ยวต่างๆ ให้ส่วนการรับรู้สื่อโฆษณาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพผ่านสปอตสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ได้แก่ สปอตโฆษณาชุดโทรศัพท์ สปอตโฆษณาชุดอุบัติเหตุ และสปอตชุดโฆษณาเลิกเหล้าเลิกจน ตามลำดับ การรับรู้การโฆษณาของสสส.มีผลต่อการดำเนินชีวิตด้านสุขภาพในระดับเห็นด้วย คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสุขภาพนอกจากนั้น การทดสอบสมมติฐาน พบว่า เพศ อายุ ที่แตกต่างกันมีการดำเนินชีวิตด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจแตกต่างกัน การศึกษา อาชีพ และระดับรายได้ที่แตกต่างกันมีการดำเนินชีวิตด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมแตกต่างกัน สถานภาพ ที่แตกต่างกันมีการดำเนินชีวิตด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมแตกต่างกัน การดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันมีการดำเนินชีวิติด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจแตกต่างกัน กิจกรรมนันทนาการมีความสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม การรับรู้สื่อโฆษณาของสสส.ผ่านสื่อสปอตโฆษณาทางโทรทัศน์สื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา มีความสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม แต่การรับรู้สื่อโฆษณาของ สสส. ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมีความสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตด้านเศรษฐกิจ