The Analysis of Financial Ratios to Study the Investment Trend in Consumption Registered in The Stock Exchange of Thailand

โดย นภัสสร จันทบุญ

ปี      2550

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาค้นคว้าอิสระเรื่องการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินเพื่อศึกษาแนวโน้มการลงทุนในธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินและศึกษาแนวโน้มประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพคล่อง ด้านสภาพหนี้สินและด้านความสามารถในการทำกำไร และจัดลำดับธุรกิจที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีที่สุดและมีแนวโน้มที่น่าจะลงทุน การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินของธุรกิจใช้ข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 ถึง พ.ศ.2549 และใช้การเปรียบเทียบข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินของธุรกิจกับอัตราส่วนมาตรฐานทางการเงินของอุตสาหกรรมด้วยค่าเฉลี่ย (Average) ค่าสูงสุด (Max) และค่าต่ำสุด (Min) เพื่อจัดลำดับธุรกิจ โดยแบ่งกลุ่มบริษัทที่ศึกษาเป็น กลุ่มบริษัทขนาดเล็ก (ทุนจดทะเบียนต่ำกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาท)กลุ่มบริษัทขนาดกลาง (ทุนจดทะเบียน 51-200 ล้านบาท) และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (ทุนจดทะเบียน201 ล้านบาทขึ้นไป) ซึ่งทำการเก็บรวบรวมข้อมูลได้ 35 บริษัท หรือคิดเป็น 81.39 % จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 43 บริษัท

ผลการประเมินและศึกษาแนวโน้มประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้ง 3 ด้าน ของกลุ่มบริษัทในแต่ละขนาดด้วยวิธีการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย (Average) ของข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินพบว่า ด้านสภาพคล่องกลุ่มบริษัทที่มีแนวโน้มประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ใช้ได้ คือ กลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่วนกลุ่มบริษัทขนาดเล็กควรปรับปรุง ด้านสภาพหนี้สินบริษัทที่มีแนวโน้มประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ใช้ได้ คือ กลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่วนกลุ่มบริษัทขนาดเล็กควรปรับปรุง และด้านความสามารถในการทำกำไรกลุ่มบริษัทที่มีแนวโน้มประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ใช้ได้ คือ กลุ่มบริษัทขนาดกลาง ส่วนกลุ่มบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ควรปรับปรุง

ผลการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินเพื่อจัดลำดับธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคปีพ.ศ.2549 ที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานดีที่สุดและมีแนวโน้มที่น่าจะลงทุน พบว่า

กลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีที่สุดและมีแนวโน้มที่น่าจะลงทุน ได้แก่ บริษัทแจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทสว่างเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด(มหาชน) บริษัท ซี.พี.แอล.กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) บริษัทคาสเซ่อร์พีค โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทบางกอกไนล่อน จำกัด (มหาชน) บริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) บริษัท โอเชียน กลาส จำกัด (มหาชน) บริษัทร้อกเวิธ จำกัด (มหาชน) บริษัทรองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย จำกัด(มหาชน) บริษัทนิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) จำกัด (มหาชน) บริษัทวาไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)บริษัทซันวู้ดอินดัส ทรีส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยโทเรเท็กซ์ไทล์มิลส์จำกัด (มหาชน) บริษัทโรงงานผ้าไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทยูเนี่ยนไพโอเนียร์ จำกัด (มหาชน)

บริษัทขนาดกลางที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีที่สุดและมีแนวโน้มที่น่าจะลงทุนได้แก่ บริษัทธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัทเท็กซ์ไทล์เพรสทีจจำกัด (มหาชน) บริษัทประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)บริษัท โอ ซี ซี จำกัด (มหาชน) และบริษัทยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน)

บริษัทขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีที่สุดและมีแนวโน้มที่น่าจะลงทุนได้แก่ บริษัทแฟนซีวู๊ด อินดัสตรีส จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)บริษัทแพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) บริษัทสหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) บริษัทไดสตาร์       อิเลคทริกคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน)

ข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการวิจัยคือ อัตราส่วนทางการเงินที่ได้จากการวิเคราะห์งบการเงินเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นในอดีตสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานช่วยในการตัดสินใจลงทุนได้ แต่นอกจากการพิจารณาอัตราส่วนด้านสภาพคล่อง ด้านสภาพหนี้สิน ด้านความสามารถในการทำกำไรและเงินปันผลตอบแทนแล้ว นักลงทุนไม่ควรมองข้ามปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจด้วย เช่น ข้อมูลด้านการบริหาร ข้อมูลสภาพเศรษฐกิจและสภาพการแข่งขันค่าเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

DOWNLOAD