Effecting Factor to Safety Behavior in Workplace of Operations in Production Line, PCTT Ltd.
โดย เสาวภาคย์ อภิญญาอนันต์
ปี 2550
อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัย และขั้นตอนการทำงานที่มีความซับซ้อนเข้ามาใช้ในระบบการผลิต เช่น เครื่องจักรกล อุปกรณ์ช่วยเพิ่มผลผลิต หรือสารเคมีต่างๆ ทำให้มีความจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง เพราะหากมีการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม หรือระบบการจัดการด้านความปลอดภัยมีความผิดพลาด ก็จะเกิดความเสี่ยงต่อการประสบอันตรายจากการทำงานขึ้นได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียทั้งกับตัวพนักงานและครอบครัว รวมถึงชื่อเสียงและภาพพจน์ของธุรกิจ ดังนั้นทั้งฝ่ายบริหารและพนักงานต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมในการทำงานที่ถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัย
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้กรอบแนวคิดการหาความแตกต่างระหว่างข้อมูลทั่วไป ได้แก่เพศ อายุ สถานภาพการสมรส ระดับการศึกษา อายุงาน การได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ลักษณะการปฏิบัติงาน ที่มีผลต่อพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานรวมถึงการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรข้อมูลความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในการทำงานกับพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งเป็นวิธีการวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือวัดระดับพฤติกรรมในระดับมาตรฐานอันตรภาค ตามแบบมาตราส่วนประเมินค่าแบบไลเคอร์ท โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและเชิงอนุมานด้วยการทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวร่วมกับการเปรียบเทียบเชิงซ้อน โดยการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่และการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า เพศ และลักษณะการปฏิบัติงาน มีผลต่อพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน ส่วนอายุงาน มีผลต่อพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานในด้านการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรอย่างปลอดภัย ที่แตกต่างกันอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในการทำงาน มีความสัมพันธ์ทิศทางเดียวกันกับพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานโดยภาพรวม อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01