The Study of Consumers’ Behaviors in Purchasing Facial Treatment Product for Men in Thunya Buri District, Pathum Thani Province
โดย วิภาพร พรหมประดิษฐ
ปี 2550
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าสำหรับผู้ชายของผู้บริโภคในเขต อำเภอธัญบุรี จังหวัด ปทุมธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริโภคเพศชายที่ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าสำหรับผู้ชาย จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบค่าไคสแควร์
ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-25 ปี การศึกษาปริญญาตรีมีอาชีพพนักงานบริษัทระดับปฏิบัติการ รายได้ต่อเดือน 10,001-20,000 บาท สถานภาพโสด มีความถี่ในการซื้อผลิตภัณฑ์เดือนละครั้ง ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ครั้งละไม่เกิน 300 บาท ด้านสถานที่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ซุปเปอร์สโตร์ เช่น โลตัส, บิ๊กซี ประเภทที่ซื้อส่วนใหญ่ คือ ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด รองลงมาเป็น ผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอย โดยยี่ห้อ นีเวีย (Nevia For Men) ได้รับความนิยมมากที่สุด การวิเคราะห์ปัจจัยทางการตลาด ในด้านผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าสำหรับผู้ชาย พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญกับสรรพคุณของผลิตภัณฑ์มากที่สุด ด้านรูปแบบการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนประเภทแสวงหาประสบการณ์
สำหรับปัจจัยทางการตลาด ในด้านผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อ คือ สรรพคุณ,ความปลอดภัยและ บรรจุภัณฑ์สวยงามมีผลต่อความถี่ในการซื้อผลิตภัณฑ์ สรรพคุณ, แหล่งที่ผลิตสินค้า, สินค้าได้รับมาตรฐานรับรองฯ, ความหลากหลายของสินค้า, ความปลอดภัยและ บรรจุภัณฑ์สวยงาม มีผลต่อค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ ความหลากหลายของสินค้า, มีรายละเอียดบนฉลากชัดเจน, บรรจุภัณฑ์สวยงาม และภาพลักษณ์มีผลต่อสถานที่ซื้อผลิตภัณฑ์ แหล่งผลิตสินค้า, มีรายละเอียดบนฉลากชัดเจน และบรรจุภัณฑ์สวยงามมีผลต่อประเภทผลิตภัณฑ์ที่ซื้อ
จากการศึกษาในส่วนของรูปแบบการดำเนินชีวิตตามระบบ VALS ซึ่งมี 8 กลุ่ม มีแนวโน้มว่า กลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Innovators) มีผลต่อค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์, สถานที่ซื้อผลิตภัณฑ์และประเภทผลิตภัณฑ์ที่ซื้อ กลุ่มนักคิด (Thinkers) มีผลต่อค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์และสถานที่ซื้อผลิตภัณฑ์ กลุ่มมุ่งความสำเร็จ (Achievers) มีผลต่อความถี่ในการซื้อ
ผลิตภัณฑ์, ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์, สถานที่ซื้อผลิตภัณฑ์และประเภทผลิตภัณฑ์ที่ซื้อ กลุ่มผู้แสวงหาประสบการณ์ (Experiencers) มีผลต่อประเภทผลิตภัณฑ์ที่ซื้อ กลุ่มผู้ยึดถือหลักการ(Believers) มีผลต่อค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์, สถานที่ซื้อผลิตภัณฑ์และประเภทผลิตภัณฑ์ที่ซื้อกลุ่มผู้ที่มีความพยายาม (Strivers) มีผลต่อสถานที่ซื้อผลิตภัณฑ์และประเภทผลิตภัณฑ์ที่ซื้อ กลุ่มผู้ปฏิบัติการ (Makers) มีผลต่อค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ กลุ่มผู้ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน (Survivors)มีผลต่อประเภทผลิตภัณฑ์ที่ซื้อ
ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ พบว่า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับสรรพคุณของผลิตภัณฑ์และ มีการพัฒนาคุณภาพพร้อมทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างทั่วถึง