Insecticidal Toxicity of Secondary Metabolitesfrom Stemona spp. Root
โดย อัญชลี สงวนพงษ์
ปี 2548
บทคัดย่อ (Abstract)
การใช้เทคนิควิธีสกัดแบบ Fixed-bed contacting แบบสกัดไล่โซลเวนท์และแบบสกัดทีละโซลเวนท์ ในการสกัดสารออกฤทธิ์จากรากหนอนตายหยากที่มีผลต่อการป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้หอม พบว่าการใช้สารละลายอินทรีย์ชนิดต่างๆ สกัดแบบทีละโซลเวนท์ให้ปริมาณผลผลิตรวมของสารสกัดหยาบสูงกว่าการสกัดแบบไล่โซลเวนท์ ทั้งนี้การสกัดสารด้วยอะซีโทนให้ปริมาณผลผลิตสารสกัดหยาบสูงสุดทั้งการสกัดแบบทีละโซลเวนท์และแบบไล่โซลเวนท์ ในการผลิตสารสกัดแบบทีละโซลเวนท์ สารที่มีประสิทธิภาพรองลงมาคือ น้ำเอทานอล เมทานอล ไดคลอโรมีเทนและเฮกเซนตามลำดับจากการทดลองยังพบว่า ค่าสีในระบบ Judd-Hunter (ค่าสี L-a-b) และค่าปริมาณสารของแข็งที่ละลายได้(Total soluble solid, TSS) ของสารสกัดแต่ละชนิดยังแตกต่างกันอีกด้วย ทั้งนี้การใช้ไดคลอโรมีเทนสามารถสกัดปริมาณสารของแข็งที่ละลายได้สูงกว่าการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ชนิดอื่น ทั้งวิธีการสกัดแบบทีละโซลเวนท์และแบบไล่โซลเวนท์ สารที่มีประสิทธิภาพรองลงมาได้แก่ เฮกเซน เอทานอล อะซีโทนน้ำและเมทานอลตามลำดับส่วนการทดสอบประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอมพบว่า สารที่สกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์กลุ่มที่มีขั้วสูงเช่น น้ำ เมทานอลและเอทานอล มีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้สารที่สกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์กลุ่มที่มีขั้วต่ำ เช่น เฮกเซน ไดคลอโรมีเทนและอะซีโทนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้สารสกัดด้วยน้ำที่ความเข้มข้นสูงจะมีผลทำให้เปอร์เซ็นต์การตายของหนอนกระทู้หอมเพิ่มขึ้นเป็น 80 % ในทางตรงกันข้ามการใช้สารสกัดจากเฮกเซนพบเปอร์เซ็นต์การตายของหนอนกระทู้หอมเพียง 30 % และต้องใช้สารสกัดความเข้มข้นสูงสุด 15 % เท่านั้น ส่วนสารสกัดจากไดคลอโรมีเทนและอะซีโทน แสดงประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ต่อหนอนกระทู้หอมในลักษณะใกล้เคียงกัน