The Study of Demographic Factor Influencing Consumers’ Confidence in Marketing Mix Factor Affecting E-Commerce
โดย นุชรี ลอยประโคน
ปี 2550
บทคัดย่อ (Abstract)
การค้นคว้าอิสระมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึง ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ที่มีผลต่อระดับความเชื่อมั่น ในด้านส่วนประสมการตลาดของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีต่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ประชากรในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนธันวาคม 2550- เมษายน 2551โดยวิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวก (Convenience Sampling)ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้ทั้งหมด 400 ชุด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) ใช้ทดสอบสมมติฐาน หากพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจะใช้วิธีการของFisher’s Least Significant Difference (LSD) ด้วยโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลสำเร็จรูป SPSS for Windows
ผลการวิจัยวิเคราะห์ลักษณะทางประชากรศาสตร์ ส่วนมากเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายมีอายุระหว่าง 26-33 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอาชีพเป็นพนักงานเอกชน มีรายได้ระหว่าง10,001-15,000 บาท และส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านระดับความเชื่อมั่นของกลุ่มตัวอย่างที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่น ในปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์(Product) มีค่าเฉลี่ยในระดับน้อย ด้านราคา (Price) มีค่าเฉลี่ยในระดับน้อย ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) มีค่าเฉลี่ยในระดับปานกลาง ด้านการส่งเสริมการตลาด (Promotion) มีค่าเฉลี่ยในระดับปานกลาง
ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า เพศที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่างกันในด้านผลิตภัณฑ์ และ ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย อายุที่ต่างกันมีอิทธิพลต่อความเชอมั่น ที่มีต่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่แตกต่างกันในด้านผลิตภัณฑ์ ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ด้านการส่งเสริมการตลาด การศึกษาที่แตกต่างกันไม่มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายการส่งเสริมการตลาด อาชีพที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อการความเชื่อมั่นที่มีต่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่แตกต่างกัน ในด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการตลาด รายได้ที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีต่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่แตกต่างกัน ในด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการตลาด ประสบการณ์ที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่แตกต่างกัน ในด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านการส่งเสริมการตลาด