The Trademark Level in Consumer Attitude in Air-ConditionerProducts and for Study the Relation between Brand Worth and the Contentment of a Consumer
โดย ปารตรี นิลสุข
ปี 2550
บทคัดย่อ (Abstract)
ปัจจุบันนี้ตราสินค้ามีบทบาท และความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนการตลาด เพราะตราสินค้าเป็นเสมือนสัญลักษณ์ ที่มีบุคลิภาพเฉพาะที่สามารถสื่อสารไปยังผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงคุณภาพ และสามารถคาดหวังได้ ซึ่งการค้นคว้าอิสระครั้งนี้ได้นำเสนอวิธีการวัดค่าตราสินค้าตามตัวแบบค่าตราสินค้าของ David Aaker ที่แบ่งปัจจัยในการวัดค่าตรสินค้าออกเป็น 5 ด้าน คือ ความภักดีการรับรู้ คุณภาพ การเชื่อมโยง และทรัพย์สิน
การค้นคว้าอิสระครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาระดับตราสินค้าในทัศนคติผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าตราสินค้ากับความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของผู้บริโภค โดยศึกษาจากกลุ่มประชากรตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน400 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยทำการทดสอบความน่าเชื่อถือได้ด้วยวิธี Cronbach Coefficient Alpha พบว่าข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างมีค่า Alpha สูงกว่า 0.80 ซึ่งเป็นระดับที่ให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้สูง สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) เพื่ออธิบายข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage)ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยการวัดคุณค่าตราสินค้าทั้ง 5 ด้าน สามารถแยกความแตกต่างของคุณค่าตราสินค้าได้ จากการแยกทดสอบกับ 12 ตัวแปรย่อย และจากการศึกษาได้ทำการหาค่าเฉลี่ยเพื่อวัดคุณค่าตราสินค้าปรากฏว่าตราสินค้า มิตซูบิชิ มีค่าตราสินค้าเป็นอันดับ 1 ตราสินค้า แอลจี มีค่าตราสินค้าเป็นอันดับ 2 ตราสินค้า ไดกิ้น มีค่าตราสินค้าเป็นอันดับ 3 ตราสินค้า ไซโจเดนกิ มีค่าตราสินค้าเป็นอันดับ 4 และตราสินค้า พานาโซนิค มีค่าตราสินค้าน้อยที่สุดเป็นอันดับ 5 สำหรับความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับคุณค่าตราสินค้า พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าค่าตราสินค้ามีคุณค่าต่อผู้บริโภคในด้านความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ และด้านความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด