Participation and Acceptance of employee to the ERP-SAP package software Case study: Financial employee of Provincial Electricity Authority Headquarter
โดย ปริยนุช ชอบธรรม
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การค้นคว้าอิสระครั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของปัจจัยด้านประชากร กับการมีส่วนร่วมและการยอมรับของพนักงานฝ่ายการเงิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ ต่อระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP ประชากรที่ใช้ในการค้นคว้าอิสระครั้งนี้ คือ พนักงานฝ่ายการเงิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ ทั้งหมด จำนวน 163 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าสถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเฉลี่ยของตัวแปร 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน (Independent- Sample T-test) ค่าเฉลี่ยตัวแปรที่มีอิสระต่อกันที่มากกว่า 2 กลุ่ม (ANOVA) และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ (Correlation Analysis) ด้วยสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson Correlation)
ผลการวิจัยด้านประชากรพบว่า ประชากรส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเกินกว่า 40 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี อายุงานมากกว่า 20 ปี ตำแหน่งพนักงาน ระดับ 5-7 เคยใช้ Program Computer ส่วนใหญ่เคยใช้ MS office (เช่น MS Word ,Excel) มีระดับการมีส่วนร่วมกับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP โดยรวมในระดับปานกลาง ในการทำงานผ่านระบบ ERP-SAP และทราบว่าระบบ ERP-SAP จะช่วยให้เกิดประโยชน์ แต่ ในประเด็นมีส่วนร่วมในการประเมินผลระบบ ERP-SAP, การรวบรวมข้อมูลก่อนการติดตั้งระบบ ERP-SAP และในด้านการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากระบบ มีระดับการมีส่วนร่วมน้อย มีระดับการยอมรับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP โดยรวม ปานกลาง และมีระดับการยอมรับน้อย ในด้านความซับซ้อน(Complexity) และด้านการทดลองได้(Trialability)
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของลักษณะทางประชากรต่อระดับการมีส่วนร่วมและการยอมรับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP พบว่า ความแตกต่างทางด้านเพศ และ อายุงาน ไม่มีผลต่อระดับการมีส่วนร่วม แต่ความแตกต่างทางด้นอายุ ,การศึกษา ,ตำแหน่ง ,ระดับ และพื้นฐานความรู้ทางคอมพิวเตอร์มีผลต่อระดับการมีส่วนร่วม โดยอายุ 20-29 ปี จะมีส่วนร่วมโดยรวมมากกว่า กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป การมีส่วนร่วมในด้านการดำเนินการ (Implementation) การศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาตรี มีระดับการมีส่วนร่วมมากกว่าการศึกษาระดับอื่นๆ ตำแหน่งพนักงานมีส่วนร่วมโดยรวมและด้านการดำเนินการ (Implementation) น้อยกว่า ตำแหน่งอื่นๆ ในการมีส่วนร่วมกับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP โดยรวม พนักงานระดับ 2-4 มีส่วนร่วมมากกว่าระดับ 5-10 ผู้ที่เคยใช้ Program computer และมีความถี่ในการใช้ Program Computer มาก จะมีส่วนร่วมกับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP มาก
ในด้านการยอมรับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP ลักษณะประชากรที่แตกต่างในด้าน เพศ, ระดับการศึกษา และตำแหน่ง ที่แตกต่างไม่มีผลต่อระดับการยอมรับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP ที่แตกต่าง ผู้ที่มีอายุ 20-29 ปี มีการยอมรับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP มากกว่าช่วงอายุอื่นๆในทุกด้านผู้มีอายุงานไม่เกิน 10 ปี มีการยอมรับในการใช้งานระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP มากกว่า อายุงานช่วงอื่นๆ ผู้ที่เคยใช้และความถี่ในการใช้ Program Computer มากจะมีระดับการยอมรับในการใช้งานระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP โดยรวมมากกว่า ยกเว้นในด้านการสอดคล้องเข้ากันได้กับสิ่งที่มีอยู่เดิม(Compatibility) และ ด้านการทดลองได้(Trialability)
ความสัมพันธ์ระหว่างการมีส่วนร่วมกับการยอมรับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP โดยรวม มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ถ้ามีการมีส่วนร่วมกับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP มากขึ้นก็จะเกิดกระบวนการยอมรับมากขึ้นหรืออีกนัยหนึ่งก็คือถ้ามีการมีส่วนร่วมกับระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ERP-SAP น้อยลงก็จะเกิดกระบวนการยอมรับน้อยลงเช่นกัน