A design of infrared roaster cashew kernels
โดย อภินันท์ วัลภา, นายศุภกิตต์ สายสุนทร, โศรดา วัลภา และพฤกษา สวาทสุข
ปี 2553
บทคัดย่อ (Abstract)
งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษา ออกแบบ สร้างเครื่องคั่วเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ให้ความร้อนโดยรังสีอินฟราเรดต้นแบบ ขนาดความจุ 1 กิโลกรัม และทำการทดสอบประสิทธิภาพ เครื่องคั่วประกอบด้วยห้องคั่วที่มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ผนังสองชั้นภายในกรุด้วยฉนวนใยหิน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร ยาว 60.4 เซนติเมตร มีแหล่งจ่ายพลังงานความร้อนเป็นหลอดอินฟราเรดขนาด 700 วัตต์ จำนวน 4 หลอด ภายในห้องคั่วติดตั้งตะแกรงคั่วทรงกระบอกทำจากตะแกรงสแตนเลสขนาด 18 เมช ขึ้นรูปให้มีลักษณะโค้งเข้าเพื่อทำให้เกิดการกลิ้งตัวของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ในระหว่างการคั่ว จากการทดลองหาความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์กับกระแสที่จ่ายให้พบว่าเครื่องคั่วสามารถสร้างความร้อนให้กับเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ได้มากกว่า 200 องศาเซลเซียสและสามารถควบคุมอุณหภูมิของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ในขณะทำการคั่วที่ระดับต่างๆให้มีความสม่ำเสมอได้ ความเร็วรอบที่เหมาะสมสำหรับการคั่วเมล็ดมะม่วงหิมพานต์คือ 6-8 รอบต่อนาที และการทดสอบคั่วเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ระดับอุณหภูมิของเมล็ดที่ 140, 150 และ 160 องศาเซลเซียส เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของคุณสมบัติต่างๆพบว่าผลของการเพิ่มขึ้นของระยะเวลาที่ใช้ในการคั่วทำให้ผลิตภัณฑ์มีสีเข้มขึ้น ความชื้นลดลง และความกรอบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงมีแนวโน้มเดียวกันในทุกระดับอุณหภูมิ และอัตราการเปลี่ยนแปลงของทั้งค่าสี ความชื้นและความกรอบ จะเพิ่มสูงขึ้นตามระดับของอุณหภูมิที่ใช้คั่วที่เพิ่มขึ้นในทุกสภาวะอุณหภูมิที่ใช้ในการทดลอง ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมของการคั่วเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ระดับอุณหภูมิต่างๆจะมีระยะเวลาแตกต่างกันไป โดยการคั่วที่อุณหภูมิ 140 องศาเซลเซียส อยู่ในช่วง 15-30 นาที อุณหภูมิการคั่ว 150 องศาเซลเซียส อยู่ในช่วง 15-20 นาที และอุณหภูมิการ 160 องศาเซลเซียส อยู่ในช่วง 10-15 นาที
DOWNLOAD : การวิจัยและพัฒนาเครื่องคั่วเมล็ดมะม่วงหิมพานต์อินฟราเรดต้นแบบ