“Factors of Rice Varieties on farmer’s Satisfaction in Bang Nam Priao District, Chachoengsao Province”
โดย ผกาวรรณ ควรประเสริฐ
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของเกษตรกรในการใช้พันธุ์ข้าวปลูกเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา” การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยด้านข้อมูลทั่วไปของเกษตรกรที่เลือกใช้พันธุ์ข้าวปลูก ในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา 2) เพื่อศึกษาปัจจัยการผลิต และปัจจัยการสนับสนุนส่งเสริมการตลาดที่มีผลต่อความพึงพอใจของเกษตรกรในการเลือกใช้พันธุ์ข้าวปลูก 6 พันธุ์ 3) เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของเกษตรกรในการใช้พันธุ์ข้าวปลูกเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา จำแนกตามข้อมูลทั่วไป ปัจจัยการผลิต และปัจจัยการสนับสนุนส่งเสริมการตลาด กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ เกษตรกรเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม(Questionnaire) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปทางสถิติ โดยคำนวณหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าสถิติ t-testและค่าสถิติ F-test แล้วทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ (Least Significant Difference)
ผลการวิจัยพบว่า เกษตรกรในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรามีความพึงพอใจต่อการใช้พันธุ์ข้าวปลูกในภาพรวมของพันธุ์ข้าวทั้ง 6 พันธุ์ข้าวอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย และเมื่อพิจารณาในแต่ละพันธุ์ข้าวพบว่า พันธุ์ข้าวพิษณุโลก 2 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับค่อนข้างมาก พันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 และพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 1 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย ส่วนพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 2 พันธุ์ข้าวชัยนาท 1 และพันธุ์ข้าวกข 31 (ปทุมธานี 80) มีความพึงพอใจอยู่ในระดับน้อย
เกษตรกรที่มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือน แหล่งรายได้หรืออาชีพ รายได้จากการทำนามีประสบการณ์ในการปลูกข้าว ต่างกันมีความพึงพอใจในการใช้พันธุ์ข้าวปลูกแตกต่างกัน เกษตรกรที่มีการใช้ปัจจัยการผลิตแตกต่างกัน ในด้านการใช้พันธุ์ข้าวปลูก การใช้หรือไม่ใช้สารกำจัดแมลง พื้นที่นาในการปลูกข้าว เหตุผลในการเลือกใช้พันธุ์ข้าว การสนับสนุนส่งเสริมด้านการตลาด มีความพึงพอใจในการใช้พันธุ์ข้าวปลูกแตกต่างกัน