The Knowledge and Understanding for the Accountant on Thai accounting Standard No.35 “Presentation of Financial Statement” in Pathumthani Province
โดย อาภาศรี ตระกูลจั่นนาค
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาเรื่อง ความรู้ความเข้าใจของผู้ทำบัญชีเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 35เรื่อง การนำเสนองบการเงิน ในจังหวัดปทุมธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงระดับความรู้ความเข้าใจและประสิทธิภาพของผู้ทำบัญชีเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 35 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน และเพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจัยเกื้อหนุนและความรู้ความเข้าใจของผู้ทำบัญชีเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 35 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน โดยเก็บข้อมูลจากผู้ทำบัญชีที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า จังหวัดปทุมธานี จำนวน 293คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS For Windows ค่าสถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความแปรปรวน ค่าความสัมพันธ์ (Correlation) ค่าความแตกต่าง (T-test , ANOVA)
จากการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบส่วนถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 89.80 อายุตั้งแต่21 – 25 ปี ร้อยละ 32.10 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 96.90 มีรายได้ 5,000 – 10,000บาท ร้อยละ 46.40 และมีประสบการณ์การทำงาน 3 – 6 ปี ร้อยละ 37.20 และทำงานในตำแหน่งพนักงานบัญชี ร้อยละ 66.90 มีการพัฒนาตนเองเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีน้อยกว่า 5 ครั้งต่อปีและได้เข้ารับการอบรมน้อยกว่า 3 ครั้งต่อปี ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในธุรกิจประเภทธุรกิจบริการสำนักงานบัญชี สินค้าอุปโภคบริโภค อื่นๆ(ปิโตรเลียม ไฟฟ้า) วัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ธุรกิจการเงิน และเกษตรกรรมและอาหาร ตามลำดับ
โดยภาพรวมแล้ว ผู้ทำบัญชีในจังหวัดปทุมธานี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 35 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน ในระดับปานกลาง คือตอบถูกต้องตั้งแต่ 8 – 12ข้อ จากการทดสอบความแตกต่างระหว่างข้อมูลส่วนบุคคลกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 35 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน พบว่า เพศที่แตกต่างกันมีความรู้ความเข้าใจไม่แตกต่างกัน ส่วนอายุ ระดับการศึกษา รายได้ ประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกันมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 35 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเกื้อหนุนกับความรู้ความเข้าใจของผู้ทำบัญชีพบว่า ตำแหน่งงาน โอกาสในการพัฒนาตนเอง และการเข้ารับการอบรม มีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจของผู้ทำบัญชีที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 และมีความสัมพันธ์กันในทางบวก
ข้อเสนอแนะในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของผู้ทำบัญชีในจังหวัดปทุมธานีนั้น ผู้ทำบัญชีรวมถึงผู้ประกอบการ ควรมีการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า จังหวัดปทุมธานี ควรจัดฝึกอบรม สัมมนาให้มากยิ่งขึ้น สถานศึกษาควรมีการจัดให้นักศึกษาได้เข้ารับการฝึกปฏิบัติงานทางการบัญชีจริง หรือสถานการณ์จำลอง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานจริงมากยิ่งขึ้น นำมาซึ่งความถูกต้องและความเชื่อถือได้ในการนำเสนองบการเงิน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต