The relation between return and risk by CAPM A case study on The Stock Exchange of Thailand
โดย ชญานิศ ชัยศิริ
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนของหลักทรัพย์และความเสี่ยงโดยใช้ทฤษฎี CAPM ศึกษาการคำนวณหาค่าเบต้าและเปรียบเทียบความเสี่ยงของหลักทรัพย์ โดยใช้ข้อมูลราคาปิดรายเดือนของตลาดหลักทรัพย์และหลักทรัพย์ที่ศึกษาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนธันวาคม 2551 หลักทรัพย์ที่ทำการศึกษามีทั้งหมด 51 หลักทรัพย์จาก 7 กลุ่มอุตสาหกรรม
ในการศึกษาได้รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ เพื่อนำมาหาอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยง(ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ของตลาดหลักทรัพย์และหลักทรัพย์ที่ทำการศึกษา คำนวณค่าสัมประสิทธิ์เบต้าของหลักทรัพย์ (β) โดยใช้การหาความสัมพันธ์ถดถอยเชิงเส้นตรงด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดจากนั้นคำนวณหาผลตอบแทนที่คาดหวังของหลักทรัพย์โดยใช้ทฤษฎีแบบจำลองการตั้งราคาหลักทรัพย์มาเป็นแนวคิด และนำค่าที่คำนวณได้ไปวิเคราะห์
ผลการศึกษาอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยง (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) พบว่า อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนขาดทุนร้อยละ 0.65 โดยมี 6 หลักทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนมีผลกำไรและสูงกว่าตลาดหลักทรัพย์ ในด้านความเสี่ยงของหลักทรัพย์ โดยพิจารณาจากค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เกือบทุกหลักทรัพย์มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงกว่าตลาดหลักทรัพย์ ผลการศึกษาจากค่าสัมประสิทธิ์เบต้าของหลักทรัพย์ (β)และเส้นตลาดหลักทรัพย์ พบว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาตั้งแต่ปี 2547 – 2551 อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของหลักทรัพย์โดยใช้แบบจำลองการตั้งราคาหลักทรัพย์ ลักษณะของเส้นตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มทิศทางลดลง การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนขาดทุนจากการลงทุน และผลการศึกษาจากการทดสอบสมมติฐานการวิจัย ได้แบ่งหลักทรัพย์ตามค่าสัมประสิทธิ์เบต้าหรือความเสี่ยงที่เป็นระบบ คือกลุ่มที่ 1 มีค่าสัมประสิทธิ์เบต้า น้อยกว่า 1 และกลุ่มที่ 2 มีค่าสัมประสิทธิ์เบต้า มากกว่า 1 แล้วทำการเพื่อทดสอบให้มั่นใจว่า หลักทรัพย์ทั้ง 2 กลุ่มที่ได้จากการศึกษามีค่าสัมประสิทธิ์เบต้าน้อยกว่า 1 และมากกว่า 1 ทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ ณ ระดับความเชื่อมั่น 95% พบว่า ยอมรับสมมติฐานทั้ง 2 สมมติฐาน คือ หลักทรัพย์กลุ่มที่ 1 มีความเสี่ยงที่เป็นระบบน้อยกว่าความเสี่ยงของตลาดหลักทรัพย์จริงทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ ณ ระดับความเชื่อมั่น 95 % และ หลักทรัพย์กลุ่มที่ 2 มีความเสี่ยงที่เป็นระบบมากกว่าความเสี่ยงของตลาดหลักทรัพย์จริงทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ ณ ระดับความเชื่อมั่น 95 %
จากผลการศึกษา ทำให้ทราบว่านักลงทุนสามารถนำข้อมูลในอดีตมาใช้ประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจในการลงทุน ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ใด ๆ นั้น นักลงทุนควรจะพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของหลักทรัพย์ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์นั้นๆ เช่น พิจารณาด้วยการวิเคราะห์ทางด้านปัจจัยพื้นฐาน การวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค การพิจารณาอัตราการเจริญเติบโตของบริษัท และอัตราส่วนราคาต่อกำไรของหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อให้ได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่เหมาะสมสอดคล้องกับความเสี่ยงจากการลงทุน