Factors that Effect User Satisfaction in Wi-Fi System: Case Study of Rajamangala University of Technology Thanyaburi
โดย สุจิตตา ชื่นคำ
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทางด้านประชากรศาสตร์ พฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้งานระบบ Wi-Fi และความพึงพอใจในการใช้งานระบบ Wi-Fi ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษามีจำนวน 157 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติ Independent-Sample Ttestและ One-way ANOVA ในการทดสอบสมมติฐาน ซึ่งประมวลผลโดยใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิเคราะห์ทางสถิติ ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลของระดับความพึงพอใจ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความพึงพอใจด้านการใช้งานดังกล่าว มีค่าเฉลี่ยอยู่ระดับปานกลาง โดยในส่วนของการช่วยให้การค้นหาข้อมูลสะดวกและง่ายและมีความรวดเร็วในด้านของการรับ-ส่งข้อมูลโดยผ่านระบบ Wi-Fi มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับแรก และความสะดวกและความเหมาะสมในเรื่องสถานที่ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดไว้ให้บริการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย ด้านการจัดการต่อระบบ Wi-Fi มีค่าเฉลี่ยปานกลาง โดยในส่วนของประสิทธิภาพการทำงานของระบบ Wi-Fiของมหาวิทยาลัย มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับแรกและความเหมาะสมในด้านการให้บริการระบบ Wi-Fi และอุปกรณ์ Wi-Fi มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย ด้านประโยชน์โดยรวมมีค่าเฉลี่ยปานกลาง โดยในส่วนจากการใช้งานระบบ Wi-Fi ท่านมีความพึงพอใจต่อผลที่ได้รับจากการทำงานมีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับแรกและการให้บริการด้านการให้คำแนะนำแก่นักศึกษามีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย
การทดสอบสมมติฐานทางด้านประชากรศาสตร์ สรุปได้ว่า สาขาวิชาที่แตกต่างกันมีผลต่อความพึงพอใจด้านการจัดการต่อระบบ Wi-Fi แตกต่างกัน และเพศกับสาขาวิชาที่แตกต่างกันมีผลต่อความพึงพอใจด้านประโยชน์โดยรวมแตกต่างกัน และการทดสอบสมมติฐานทางด้านพฤติกรรมการใช้งาน Wi-Fi สรุปได้ว่า ความถี่ด้านการใช้งานกับระยะเวลาที่ใช้ที่แตกต่างกันมีผลต่อความพึงพอใจด้านการใช้งานแตกต่างกัน ความถี่ด้านการใช้งานกับระยะเวลาที่ใช้ที่แตกต่างกันมีผลต่อความพึงพอใจด้านการจัดการต่อระบบ Wi-Fi แตกต่างกัน และความถี่ด้านการใช้งานที่แตกต่างกันมีผลต่อความพึงพอใจด้านประโยชน์โดยรวมแตกต่างกัน