Knowledge Management System: Requirement Analysis for Supporting Staff of the Office of Academic Promotion and Registration : Case Study Rajamangala University of Technology Suvarnbhumi
โดย จิตรลดา พรหมมากรณ์
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การค้นคว้าอิสระครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์รูปแบบการดำเนินงานในปัจจุบันและความต้องการของระบบจัดการความรู้ เพื่อนำเสนอรายละเอียดการวิเคราะห์ความต้องการ เสนอต่อผู้บริหารสถานศึกษา ในการนำระบบจัดการความรู้เข้ามาใช้ในสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นงานวิจัยคุณภาพ และการศึกษาจากเอกสาร โดยข้อมูลที่ได้จากการวิจัยรวบรวมจากการสัมภาษณ์บุคลากรสายสนับสนุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง จากเอกสารและรายงานต่าง ๆ หนังสือ เว็บไซต์และวารสารของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประกอบในการวิเคราะห์ความต้องการของระบบจัดการความรู้สำหรับบุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ผลการวิจัยพบว่าปัญหาหลักที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของบุคลากรแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อหลัก คือ ปัญหาที่เกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ ปัญหาที่เกิดจากหรือการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานหรือฝ่ายต่าง ๆ ปัญหาที่เกิดจากบุคลากรสายสนับสนุน(ผู้ปฏิบัติงาน) ปัญหาที่เกิดจากข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการปฏิบัติงาน และปัญหาด้านผู้มาติดต่อ จากการวิเคราะห์ความต้องการของระบบจัดการความรู้ ประกอบด้วยระบบย่อย ๆ อีก 5 ระบบย่อย คือ ระบบล็อกอิน ซึ่งในระบบจะมีการเพิ่ม ลบแก้ไขข้อมูลส่วนตัว เพิ่มลบสมาชิก อัพเดทข้อมูลข่าวสารจากผู้ดูแลระบบ การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการทำงานจากหัวหน้างาน และบุคลากรในหน่วยงาน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงาน เต็มใจที่จะเผยแพร่ข้อมูลและความรู้แก่กันและกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดความผิดพลาดจากขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ซับซ้อน
ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถใช้เป็นต้นแบบในการสร้างระบบจัดการความรู้ที่ใช้ในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ภายในหน่วยงาน สามารถให้ผู้ใช้หลาย ๆรายใช้ข้อมูลที่ต้องการพร้อมกันได้ ลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล และข้อมูลเหล่านั้น เป็นข้อมูลที่ถูกต้องสามารถตรวจสอบได้ บุคลากรสามารถนำข้อมูลหรือความรู้เหล่านั้นไปใช้เพื่อแก้ปัญหาจากการทำงาน และเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้กับตนเองได้ นอกจากนั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นให้มหาวิทยาลัยมีระบบจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ต่อไป