Behavior and Satisfaction of Thai Customer toward Services provided by Thai Air Asia Public Company Limited
โดย ณัฐธิดา คำภาพันธ์
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการชาวไทยต่อการบริการของสายการบินบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ชาวไทยที่เคยใช้บริการของสายการบินบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด(มหาชน) มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาในการใช้บริการผ่านมาเป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน (โดยการสอบถามก่อนการให้ทำแบบสอบถาม) ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน อายุตั้งแต่ 15 ปี โดยการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบตามสะดวก (Convenience Sampling) ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติเชิงพรรณนาที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน คือ t-test และ One Way ANOVA โดยหากพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จะมีการทดสอบรายคู่โดยใช้วิธี LSD (Least Significant Difference) สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows Version 11.5
ผลการวิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ช่วงอายุ 25 แต่ไม่ถึง 35 ปี มีการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอาชีพพนักงานเอกชน ระดับรายได้ 10,000 แต่ไม่ถึง 20,000 บาท ใช้บริการสายการบินในการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว ความถี่ของการใช้บริการ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการตั้งแต่ 1,500 แต่ไม่ถึง 2,000 บาท/ครั้ง ช่วงเวลาการใช้บริการเวลา 06.01 – 12.00 น. ผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกใช้บริการคือ ตนเอง ส่วนระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการชาวไทยต่อการบริการของสายการบินบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) พบว่า ระดับความพึงพอใจต่อสายการบินที่อยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับ ได้แก่ ด้านพนักงานบริการ ด้านสถานที่จัดจำหน่าย ด้านการให้บริการบนเครื่องบิน ด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านราคา และด้านภาคพื้นดินและบริการทั่วไป สำหรับในด้านการส่งเสริมการตลาด ในส่วนของการลดราคาหรือแจกของที่ระลึก ด้านราคาในส่วนของป้ายบอกราคาชัดเจนในการโฆษณา ด้านภาคพื้นดินและบริการทั่วไป ในส่วนของความถี่ของเที่ยวบินต่อวันและความหลากหลายของเส้นทางการบิน ผู้ใช้บริการชาวไทยมีความพึง
พอใจอยู่ในระดับปานกลาง
ส่วนการสรุปผลการทดสอบสมมติฐานความพึงพอใจของผู้ใช้บริการชาวไทยกับปัจจัยส่วนบุคคลและพฤติกรรมการใช้บริการเป็นดังนี้
ปัจจัยส่วนบุคคลด้านเพศ พบว่า ด้านภาคพื้นดินและบริการทั่วไป ด้านราคา ด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านพนักงานบริการมีผลต่อระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ยกเว้นด้านการให้บริการบนเครื่องบิน และด้านสถานที่จัดจำหน่าย
ปัจจัยส่วนบุคคลด้านอายุ พบว่า ด้านภาคพื้นดินและบริการทั่วไป ด้านสถานที่จัดจำหน่าย ด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านพนักงานบริการมีผลต่อระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ยกเว้นด้านการให้บริการบนเครื่องบิน และด้านราคา
ปัจจัยส่วนบุคคลด้านระดับการศึกษา พบว่า ด้านสถานที่จัดจำหน่ายมีผลต่อระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ยกเว้นด้านภาคพื้นดินและบริการทั่วไป ด้านการให้บริการบนเครื่องบิน ด้านราคา ด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านพนักงานบริการ
ปัจจัยส่วนบุคคลด้านอาชีพ พบว่า ด้านราคา ด้านสถานที่จัดจำหน่าย ด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านพนักงานบริการมีผลต่อระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ยกเว้นด้านภาคพื้นดินและบริการทั่วไปและด้านการให้บริการบนเครื่องบิน
วัตถุประสงค์ในการใช้บริการ พบว่า ด้านภาคพื้นดินและบริการทั่วไป ด้านการให้บริการบนเครื่องบิน และด้านราคามีผลต่อระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ยกเว้นด้านด้านสถานที่จัดจำหน่าย ด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านพนักงานบริการ
ความถี่ของการใช้บริการ พบว่า ด้านภาคพื้นดินและบริการทั่วไปคามีผลต่อระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ยกเว้นด้านด้านการให้บริการบนเครื่องบิน ด้านราคา ด้านสถานที่จัดจำหน่าย ด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านพนักงานบริการ
ผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกใช้บริการ พบว่า ด้านการให้บริการบนเครื่องบิน ด้านราคา ด้านสถานที่จัดจำหน่าย ด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านพนักงานบริการ ยกเว้นด้านภาคพื้นดินและบริการทั่วไป
ปัจจัยส่วนบุคคลด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ค่าใช้จ่ายการใช้บริการต่อครั้ง และช่วงเวลาในการใช้บริการ พบว่า ทุกด้านไม่มีผลต่อระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ