Cost and return on investment from different rice farms with Wannamtom at Baungthonglang, Lumloogka, Pathumthanee Province
โดย กัญญนัทธ์ ตันติสุข
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ1) เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทน จากการลงทุนปลูกข้าวแบบหว่านน้ำตมในพื้นที่แต่ละขนาดในตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยทำการเปรียบเทียบพื้นที่ 3 ขนาด คือ การปลูกข้าวที่มีขนาดพื้นที่น้อยกว่า 50 ไร่ การปลูกข้าวที่มีขนาดพื้นที่ 50-100 ไร่ และการปลูกข้าวที่มีขนาดพื้นที่ 100 ไร่ขึ้นไป 2) เพื่อศึกษาถึงปัญหาในการลงทุนปลูกข้าวแบบหว่านน้ำตม ในเขตตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 3) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำไปพัฒนาเกษตรกรในการลดต้นทุนปลูกข้าว
การศึกษาใช้วิธีรวบรวมข้อมูลโดยการออกแบบสัมภาษณ์ สอบถามเกษตรกรที่ปลูกข้าวในตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี แบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 35 ราย โดยแบ่งกลุ่มเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่ม ตามขนาดพื้นที่ คือ พื้นที่เพะปลูกน้อยกว่า 50 ไร่ จำนวน 15 ราย พื้นที่เพาะปลูก 50-100 ไร่ จำนวน 15 ราย พื้นที่เพาะปลูก 100 ไร่ขึ้นไป จำนวน 5 ราย โดยกำหนดระยะเวลาโครงการ เท่ากับ 4 เดือน และประเมินผลตอบแทนด้วยอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ ร้อยละ 8
ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนและผลตอบแทน จำแนกตามขนาดพื้นที่เพาะปลูก สรุปได้ดังนี้
1. พื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 50 ไร่ มีต้นทุนรวมในการปลูกข้าวเฉลี่ยต่อไร่ต่อฤดู เป็นจำนวน 4,244.54 บาท มีกำไรสุทธิ 5,775.46 บาท มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เท่ากับ ร้อยละ73.77 มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นบวก มีอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (IRR) เท่ากับ ร้อยละ 27.99
2. พื้นที่เพาะปลูก 50-100 ไร่ มีต้นทุนรวมในการปลูกข้าวเฉลี่ยต่อไร่ต่อฤดู เป็นจำนวน 3,927.56 บาท มีกำไรสุทธิ 5,836.58 บาท มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เท่ากับ ร้อยละ 107.28 มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นบวก มีอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (IRR) เท่ากับร้อยละ 79.48
3. พื้นที่เพาะปลูก 100 ไร่ ขึ้นไป มีต้นทุนรวมในการปลูกข้าวเฉลี่ยต่อไร่ต่อฤดู เป็นจำนวน 3,574.21 บาท กำไรสุทธิ 6,268.65 บาท มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เท่ากับ ร้อยละ 143.29 มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นบวก มีอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (IRR) เท่ากับ ร้อยละ 124.96 อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนควรพิจารณาองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากการวิเคราะห์ ทางด้านบัญชีและการเงิน เช่นด้านการตลาด ด้านเทคนิคการผลิต และด้านการจัดการ เพื่อช่วยให้การตัดสินใจและความประเมินความเป็นไปได้ของโครงการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น