Private Schools’ Accounting Practice Problems in Patumthani Province on Private School Act 2007

โดย วราภรณ์ เจริญรมย์

ปี     2552

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการดำเนินงานด้านบัญชีของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดปทุมธานีตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12มกราคม 2551 และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบท บัญญัติเรื่องการจัดทำบัญชี เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและควบคุมการจัดทำบัญชีของโรงเรียนเอกชน ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกฏหมายฉบับดังกล่าวคือผู้จัดการโรงเรียน โดยทำการศึกษา ปัญหาในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ และผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีของโรงเรียน ศึกษาปัญหาการดำเนินงานด้านบัญชีในด้านรายละเอียดของเอกสาร ปัญหาการแยกประเภทรายได้ ปัญหาการควบคุมด้านรับจ่าย ปัญหาการวางระบบบัญชีปัญหาเอกสารการบันทึกบัญชี และปัญหาด้านการตรวจสอบและการควบคุมภายใน เครื่องมือที่ใช้ในการในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามปัญหาการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดปทุมธานี 77 โรงเรียนๆละ 2 ราย รวม 154 ราย ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการสัมภาษณ์

ผลการศึกษาพบว่า
1. ผู้จัดการโรงเรียนเอกชนในจังหวัดปทุมธานีส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อยู่ในช่วงอายุระหว่าง51-60 ปี มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท ประสบการณ์ทำงานระหว่าง 11-15 ปี โรงเรียนส่วนใหญ่เปิดสอนในระดับชั้น อนุบาล-ป.6 ร้อยละ 70.10 เป็นโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่
2. ปัญหาการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 โรงเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาข้อบังคับเกี่ยวกับงานด้านบัญชีที่ยังไม่เรียบร้อย ปัญหาโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปไม่เหมาะสมกับโรงเรียนและอุปกรณ์จัดทำบัญชีไม่ทันสมัย ปัญหาระบบตรวจสอบบัญชีของโรงเรียนไม่ครบถ้วนเพียงพอ และปัญหาการจัดหาผู้ทำบัญชีตามที่กฎหมายกำหนดมีค่าใช้จ่ายสูง
3. หัวหน้าผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีโรงเรียนเอกชนในจังหวัดปทุมธานี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมาก มีอายุระหว่าง 41-50 ปี มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์การทำงานระหว่าง 11-15 ปี
4. ปัญหาการดำเนินงานด้านบัญชีและการจัดทำบัญชีตามคู่มือการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจในการรับรู้รายได้ว่าควรเป็นประเภทใด ถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งประเภทรายได้ตามคู่มือฯแล้วก็ตาม เพราะยังมีรายได้บางประเภทของโรงเรียนที่ยังไม่สามารถจัดประเภทได้อย่างชัดเจนและขณะที่ทำการศึกษานี้โรงเรียนกำลังปรับปรุงระบบบัญชีของโรงเรียนให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับปัญหาการตรวจสอบและการควบคุมภายในพบว่าการรับการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ของผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีของโรงเรียนยังไม่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้นำผลงานด้านบัญชีที่นำเสนอไปใช้ในการบริหารและเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการด้านต่างๆ ของโรงเรียน

DOWNLOAD : Private Schools’ Accounting Practice Problems in Patumthani Province on Private School Act 2007