Problems of Construction Companies to Follow Accounting Standard 49 (Update 2550) on Construction Contracts in Bangkok
โดย สิริลักษณ์ ด้วงทอง
ปี 2552
บทคัดย่อ (Abstract)
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับระดับปัญหาของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ในการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 49 (ปรับปรุง 2550) เรื่องสัญญาก่อสร้าง เพื่อศึกษาความแตกต่างของระดับปัญหาในแต่ละขนาดสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนต่างกันซึ่งจากกลุ่มประชากรในการวิจัยครั้งนี้คือ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง แบ่งขนาดสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนออกเป็น 3 กลุ่ม โดยได้เก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม จำนวน 162 ชุด คิดเป็น 76.42% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลการวิจัย โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สถิติที่ใช้ในการทดสอบได้แก่ ค่าความถี่เทียบเป็นร้อยละ ค่าสถิติอนุมาน เพื่อทดสอบสมมติฐานหาความแตกต่างของตัวแปร 3 กลุ่ม โดยใช้ค่า อโนวา (ANOVA test) ที่ระดับนัยสำคัญ (α =0.05)
ผลการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ในส่วนแรกเป็นการศึกษาข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนที่สอง เป็นการศึกษาหาค่าความถี่เทียบเป็นร้อยละของระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาในการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 49 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง สัญญาก่อสร้าง พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับปัญหาปานกลาง ในขณะที่การวัดมูลค่าของรายได้ค่าก่อสร้างในส่วนของเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาก่อสร้างและใบเสร็จรับเงิน มีค่าความถี่อยู่ในระดับปัญหาน้อยจำนวน 66 คนคิดเป็นร้อยละ 40.70 และการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายของงานก่อสร้างในส่วนของรายได้ค่าก่อสร้างที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ จัดอยู่ในระดับปัญหาน้อย จำนวน 57 คนคิดเป็นร้อยละ35.20 ในส่วนที่สาม เป็นการวิเคราะห์เพื่อทดสอบสมมติฐานการวิจัย พบว่าในขนาดสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 30 – 49 ล้านบาท แตกต่างกันในด้านการวัดมูลค่ารายได้ค่าก่อสร้าง เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาก่อสร้างและใบเสร็จรับเงิน และในด้านการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายของงานก่อสร้างในเรื่องการรับรู้ต้นทุนการก่อสร้างเป็นค่าใช้จ่ายทันที ที่ระดับความน่าจะเป็น ที่กิจการจะได้รับต้นทุนต่ำกว่า ขนาดสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 50 – 199 ล้านบาท พบว่าแตกต่างกันในด้านการวัดมูลค่าของต้นทุนค่าก่อสร้าง เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ และการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับงานก่อสร้าง และในด้านการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายของงานก่อสร้าง การรับรู้ต้นทุนการก่อสร้างเป็นค่าใช้จ่ายทันที ที่ระดับความน่าจะเป็น ที่กิจการจะได้รับต้นทุนต่ำกว่า และขนาดสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 200 ล้านบาทขึ้นไป พบว่าแตกต่างกันในด้านการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินในเรื่องจำนวนเงินทั้งสิ้นที่กิจการมีสิทธิเรียกร้องจากผู้ว่าจ้างสำหรับงานก่อสร้างซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ของกิจการ ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 49 (ปรับปรุง 2550) เรื่องสัญญาก่อสร้าง ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์พอใช้
โดยสรุป ผลการวิจัยครั้งนี้ สามารถทราบระดับปัญหาของผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชี ของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณา ทำความเข้าใจ โดยให้ผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีเข้าใจในตัวบทของมาตรฐานการบัญชี นำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบบัญชี ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินธุรกิจ