การอนุรักษ์และสืบทอดโขน (ผู้หญิง)ให้แก่เยาวชน
โดย คำรณ สุนทรานนท์, รจนา สุนทรานนท์
ปี 2551
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การอนุรักษ์และสืบทอดการแสดงโขน (ผู้หญิง) ให้แก่เยาวชน เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์การแสดงโขน โดยการถ่ายทอดให้เยาวชนที่สนใจเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักในคุณค่า โดยร่วมกันสืบสานศิลปะการแสดงโขน (ผู้หญิง) ขอบเขตของการวิจัยด้านบุคคลเป็นเยาวชนเพศหญิงจำนวน 40 คน ที่มีความสนใจในการอนุรักษ์และสืบทอดโขน(ผู้หญิง) จากสถาบันการศึกษาต่างๆ รวม 40 คน โดยฝึกทักษะการปฏิบัติที่ตึกนาฏศิลป์และดุริยางค์ ตึก 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ระยะเวลาในการฝึกหัด 1 ปี ( ตลอด พ.ศ. 2550 – กันยายน 2551) โดยใช้ทฤษฎีและกรอบความคิดจากหลักวิชาทางนาฏศิลป์ไทยและทฤษฎีการถ่ายทอดของครอนบัค ผ่านการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย แล้วถ่ายทอดฝึกหัดให้เยาวชน ระยะเวลา 1 ปี กระบวนการถ่ายทอดเริ่มจากการคัดเลือกตัวละคร การคำนับครูและการฝึกหัดนาฏศิลป์โขนเบื้องต้น การฝึกหัดแม่ท่ายักษ์และลิง ฝึกหัดเพลงช้า เพลงเร็วของโขนพระ และฝึกหัดการแสดงโขนโดยแยกฝึก พระ นาง ยักษ์ ลิง ฝึกเป็นชุดเป็นตอนแล้วซ้อมรวมพร้อมแสดงผลงานการแสดงโขนตอนพระรามตามกวาง-ยกรบ หลังจากนั้นจึงแสดงผลงานการแสดง ณ ลานอนันตรังสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยถ่ายทำ CD – Rom การแสดงแล้วนำไปเผยแพร่ในการสอนสื่อทางไกลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จากการวิจัยเรื่อง การอนุรักษ์และสืบทอดการแสดงโขน (ผู้หญิง) ให้แก่เยาวชนได้พบว่าทฤษฎีการสอนโดยผสมผสานระหว่างหลักการสอนนาฎศิลป์ไทยและแนวการสอนของครอนบัค เป็นทฤษฎีการแสดงแนวใหม่ ได้พบว่านักเรียนส่วนใหญ่เรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 40โรงเรียน มาฝึกหัดเป็นเลา 1 ปี นักเรียนสามารถปฏิบัติได้และเกิดความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป