Rajamangala University of Technology Thanyaburi Master Plan Redevelopment
โดย วิทยา พิมลสิทธิ์
ปีงบประมาณ 2550
บทคัดย่อ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีวิวัฒนาการมาจาก “ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ” ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เริ่มแรกนั้นยังไม่มีศูนย์กลางบริหารงานของวิทยาลัยฯ ติอมากรม ธนารักษ์ได้อนุเคราะห์จัดหาที่ดินได้ที่บริเวณอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” เนื่องจากแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสู่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาของรัฐดำเนินการโดยอิสระ และมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ดังนั้น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลจึงได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับเดิมและยกร่างเป็นพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยมีการรวมวิทยาเขตจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์ให้ 9 มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถจัดการศึกษาวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง ที่เน้นการปฏิบัติทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก เพื่อรองรับการศึกษาต่อของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาเป็นหลักรวมถึงให้โอกาสแก่ผู้เรียนจากวิทยาลัยชุมชน และการศึกษาขั้นพื้นฐานในการศึกษาต่อวิชาชีพในระดับสูงต่อไป จากการศึกษาทราบว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีการวางผังแม่บทมาตั้งแต่ได้รับที่ดินมา แต่ไม่มีความต่อเนื่องในการปรับปรุงผังแม่บท การพัฒนากายภาพในช่วงหลังจึงเป็นการเกิดขึ้นตามยถากรรมไม่มีแผนงานที่ชัดเจน ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาทางกายภาพ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ด้วยการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานต่างๆของมหาวิทยาลัย, ศึกษาและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางกายภาพ, กำหนดแนวความคิดในการปรับปรุงผังแม่บทในด้านต่างๆ และนำเสนอแนวทางที่เหมาะสม ในการออกแบบวางผังและปรับปรุงผังแม่บทมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กระบวนการวิจัยเพื่อปรับปรุงผังแม่บทมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้แก่ การศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดิน, สถาปัตยกรรมและที่โล่ง, ระบบการสัญจร, โครงสร้างจนตภาพและภูมิทัศน์, ความสัมพันธ์กับพื้นที่โดยรอบ, ศักยภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ตั้งโครงการ และปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานในมหาวิทยาลัย จากผลการวิเคราะห์ จึงได้กำหนดแนวความคิดในการวางผังเพื่อการปรับปรุงในด้านประโยชน์ใช้สอย, ด้านรูปแบบสถาปัตยกรรม, ด้านจิตวิทยาและสังคมวิทยา, ด้านสุนทรียภาพและด้านสภาพแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน ซึ่งภายใต้ผลการวิเคราะห์และการกำหนดแนวความคิดได้ถูกสังเคราะห์ออกมาเป็นแผนงานและโครงการปรับปรุงผังแม่บท ดังนี้
แผนงานที่ 1 แผนงานปรับปรุงภูมิสัญลักษณ์
1.1 โครงการออกแบบวางผังลานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
1.2 โครงการปรับปรุงบริเวณหอประชุมและประติมากรรมดอกบัว
1.3 โครงการปรับปรุงบริเวณลานพระวิษณุกรรม
แผนงานที่ 2 แผนงานปรับปรุงบริเวณทางเข้าประตู
2.1 โครงการปรับปรุงริมถนนทางเข้าประตูที่ 1
2.2 โครงการปรับปรุงทางเข้าประตูที่ 2 (ริมคลองหก)
2.3 โครงการปรับปรุงทางเข้าประตูที่ 3 (ริมคลองหกตรงข้ามตลาดพรธิสาร)
2.4 โครงการปรับปรุงทางเข้าประตูที่ 4 (ริมคลองหก)
แผนงานที่ 3 แผนงานปรับปรุงระบบการสัญจร
31. โครงการปรับปรุงระบบถนน
3.2 โครงการปรับปรุงระบบทางจักรยาน
3.3 โครงการปรับปรุงระบบทางเดินเท้า
3.4 โครงการปรับปรุงแนวถนนสายหลัก
แผนงานที่ 4 แผนงานปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ
4.1 โครงการปรับปรุงลานพักผ่อนบริเวณคณะบริหารธุรกิจ และคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
4.2 โครงการปรับปรุงพื้นที่ระหว่างคณะศิลปศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
4.3 โครงการปรับปรุงบริเวณหน้าโรงอาหาร
4.4 โครงการปรับปรุงบริเวณคณะศิลปกรรมศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์
4.5 โครงการปรับปรุงบริเวณสระน้ำกลางคณะวิศวกรรมศาสตร์
4.6 โครงการปรับปรุงบริเวณลานพักผ่อนคณะศึกษาศาสตร์(เดิม)
แผนงานที่ 5 แผนงานก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่อาคารในอนาคต
5.1 โครงการก่อสร้างอาคารคณะบริหารธุรกิจ (หลังใหม่)
5.2 โครงการก่อสร้างอาคารสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน (ศูนย์กลางการบริการครบวงจร) และโรงพิมพ์มหาวิทยาลัย
5.3 โครงการก่อสร้างหอพระประจำมหาวิทยาลัย
5.4 โครงการก่อสร้างปรับปรุงกลุ่มอาคารปฏิบัติการคณะวิศวกรรมศาสตร์
5.5 โครงการก่อสร้างปรับปรุงศูนย์ฝึกงานโรงแรมราชบงกช
DOWNLOAD : Rajamangala University of Technology Thanyaburi Master Plan Redevelopment