The Experiment of Recording the Infrared Light from the Artificial Light Sources, the Daylight Type
โดย ประภาภร ดลกิจ
ปี 2551
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการบันทึกแสงอินฟราเรดจากแหล่งกำเนิดแสงไฟประดิษฐ์แบบเดย์ไลท์ด้วยฟิล์มอินฟราเรดขาวดำ และหน่วยรับภาพในกล้องดิจิตอล โดยทดลองถ่ายภาพกับแหล่งกำเนิดแสง ได้แก่ หลอดไฟทังสเตน หลอดไฟทังสเตนฮาโลเจน หลอดไฟเมทอลเฮไลด์ หลอดไฟฟลูออเรสเซนท์ และหลอดไฟแฟลช กำหนดตัวแปร คือรูปแบบการจุดสว่าง อุณหภูมิสีของแหล่งกำเนิดแสง การดูดกลืนแสงของวัตถุ ระยะเวลาในการบันทึกแสง
ผลการศึกษาพบว่า หลอดไฟทังสเตน หลอดไฟทังสเตนฮาโลเจน หลอดไฟเมทอลเฮไลด์ สามารถใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงอินฟราเรดได้ เมื่อบันทึกภาพโดยใช้ฟิล์มอินฟราเรดและหน่วยรับภาพดิจิตอลแบบมี hot mirror filter และไม่มี hot mirror filter โดยแสดงจำนวนระดับโทนสี และโทนสีของพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพที่แตกต่างกัน หลอดไฟฟลูออเรสเซนท์ให้แสงอินฟราเรดไม่เพียงพอต่อการถ่ายภาพอินฟราเรด ถึงแม้ว่าจะเกิดผลอินฟราเรดบ้างในภาพถ่ายที่บันทึกด้วยหน่วยรับภาพดิจิตอลแบบไม่มี hot mirror filter หลอดไฟแฟลชสามารถใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงอินฟราเรดได้ เมื่อบันทึกภาพโดยใช้ฟิล์มอินฟราเรดและหน่วยรับภาพแบบมี hot mirror filter โดยแสดงจำนวนระดับโทนสี และโทนสีของพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพที่แตกต่างกัน แต่ไม่สามรถใช้งานร่วมกันกล้องดิจิตอลที่มีหน่วยรับภาพแบบไม่มี hot mirror filter ได้ ส่วนอุณหภูมิสีของแหล่งกำเนิดแสง มีผลต่อการเกิดผลอินฟราเรดน้อย โดยการปรับอุณหภูมิสีของแสงจากแสงทังสเตนให้เป็นแสงเดย์ไลท์ ทำให้โทนสีของภาพเข้มขึ้นเล็กน้อยสำหรับการดูดกลืนแสงของวัตถุ และระยะเวลาในการบันทึกแสง แทบจะไม่มีผลต่อการเกิดผลอินฟราเรด ส่วนวัสดุไวแสงที่ไวต่อแสงอินฟราเรดมากที่สุด คือ หน่วยรับภาพดิจิตอลแบบไม่มี hot mirror filter