Development of work behavior of applied thai traditional medicine students : a case study – thai traditional medicine college
โดย ชาติชาย โยเหลา, อรัญญา ภู่รอด, สมใจ เปรมสมิทธ์, อรทัย สารกุล, เบญจวรรณ ศฤงคาร
ปี 2551
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน อิทธิบาท 4 แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และความเชื่ออำนาจในตน กับพฤติกรรมการปฏิบัติงานของนักศึกษา สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ 2. เพื่อสร้างและพัฒนาชุดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และความเชื่ออำนาจภายในตน สำหรับนักศึกษาสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ 3.ประเมินผลการใช้ชุดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ความเชื่ออำนาจในตน และพฤติกรรมการปฏิบัติงาน แตกต่างจากก่อนรับการอบรมหรือไม่ การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะโดยระยะแรกเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทางด้านสถานการณ์ทางสังคม และจิตลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการปฏิบัติงานของนักศึกษา เพื่อพิจารณาคัดเลือกตัวแปรเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาพฤติกรรมการปฏิบัติงานของนักศึกษา สำหรับระยะที่ 2 เป็นการสร้างชุดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาจิตลักษณะที่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการปฏิบัติงานของนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์แบ่งเป็นการศึกษาในระยะที่ 1 จำนวน 153 คนและการศึกษาในระยะที่ 2 จำนวน 60 คน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 15 คน คือ กลุ่มที่ 1 ฝึกแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ร่วมกับความเชื่ออำนาจในตน กลุ่มที่ 2 ฝึกความเชื่ออำนาจในตน กลุ่มที่ 3 ฝึกแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และกลุ่มที่ 4 ฝึกกิจกรรมอื่น(กลุ่มควบคุม)เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามลักษณะทางชีวสังคม แบบวัดการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน แบบวัดอิทธิบาท 4 แบบวัดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ แบบวัดความเชื่ออำนาจในตนและ แบบวัดพฤติกรรมการปฏิบัติงานของนักศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์, t-test และ Two Way Analysis of Variance …