กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายในราชอาณาจักร: ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมาย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ
โดย เนรัญชรา กอมะณี
ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2554
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษากฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของไทย โดยทำการศึกษาเฉพาะพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เปรียบเทียบกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงของประเทศมาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษโดยศึกษาถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้อำนาจในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ปัญหาและผลกระทบในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของไทยทั้งนี้เพื่อค้นหาเสนอแนะในการปรับปรุงพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้มีความเหมาะสมในการบังคับใช้ อันจะส่งผลให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้อย่างแท้จริง
จากการศึกษาพบว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เปรียบเทียบระบบกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงของต่างประเทศแล้วพบว่าในเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองมีความแตกต่างกันกล่าวคือ การยกเว้นการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองส่วนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองตรามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองแต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ประเด็นเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีความสอดคล้องกัน เช่นเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแล้วในแต่ละประเทศมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเหมือนกัน เช่นการห้ามออกจากเคหสถาน การห้ามเดินทางเป็นต้น ส่วนในเรื่องเงื่อนไขในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีความแตกต่างกันมากกล่าวคือ ในระบบกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของต่างประเทศในการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงผู้มีอำนาจประกาศใช้จะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนและภัยต่อความมั่นคงนั้น
ดังนั้นจึงควรมีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับหลักกฎหมายของต่างประเทศและหลักสากลในการป้องสิทธิมนุษยชน