การนำวิธีการประชุมกลุ่มครอบครัวมาปรับใช้กับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน

โดย ธนกมล สูญทุกข์

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2554

บทคัดย่อ
งานศึกษาฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาถึงการนำวิธีการประชุมกลุ่มครอบครัวมาปรับใช้กับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน แนวทางปฏิบัติรวมทั้งประสิทธิภาพของระบบกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์โดยวิธีประชุมกลุ่มครอบครัว และชุมชนที่นำมาใช้ควบคู่กับมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ในระบบกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศไทยในฐานะที่เป็นมาตรการทางเลือกหนึ่ง อันนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด และนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งเบาภาระคดีโดยการหันเหคดีเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด

จากการศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ทำให้เห็นสภาพปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ประกอบกับการศึกษาข้อมูลจากประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศออสเตรเลีย พบว่า การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์โดยวิธีประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชนที่นำมาใช้ในระบบกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในต่างประเทศเพื่อหันเหคดีเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นมาตรการที่ช่วยแบ่งเบาภาระคดีได้ในระดับหนึ่ง และยังพบว่าเป็นแนวทางที่สันติและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายโดยไม่เสียความเป็นธรรมแก่สมาชิกในสังคม

จากการศึกษาวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยพบว่า วิธีการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชนทำให้มาตรา 63แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534ซึ่งถือเป็นขั้นตอนก่อนฟ้องคดี ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และก่อให้เกิดความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่จะหาสาเหตุเกี่ยวกับการกระทำความผิด พร้อมทั้งบำบัดฟื้นฟู แก้ไขเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีปัญหาบางประการอันเนื่องมาจากการประชุมกลุ่มครอบครัวยังมิได้นำมาบัญญัติเป็นกฎหมายเหมือนดังเช่นประเทศนิวซีแลนด์ หรือประเทศออสเตรเลีย ทำให้ไม่มีรูปแบบการปฏิบัติงานที่เป็นแบบแผน จึงเป็นการนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสังคมไทยในมาตรา 63 ซึ่งถูกจำกัดในเรื่องของอัตราโทษ พิเคราะห์เพียงอัตราโทษโดยไม่คำนึงถึงสาเหตุ หรือพฤติการณ์ในการกระทำความผิดผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชนยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงเป็นเพียงกระบวนการหรือหลักการ ทางแก้ปัญหาจึงสามารถที่จะนำมาปรับใช้เสริมหรือสอดแทรกได้ตามสถานการณ์ของสังคมไทยไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใด
ดังนั้นแม้ขั้นตอนก่อนฟ้องของมาตรา 63 จะมีข้อจำกัดในเรื่องอัตราโทษ ขั้นตอนภายหลังการฟ้องจึงควรนำวิธีการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชนมาใช้ได้ในทุกประเภทคดีแม้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่า 5 ปี ได้ และไม่ใช่จะนำการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชนมาใช้เพื่อหันเหคดีเด็กและเยาวชนเพียงอย่างเดียว แต่ควรนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กด้วย กล่าวคือ ถึงแม้อัตราโทษเกินกว่า 5 ปี การฟ้องก็อาจดำเนินต่อไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ก็สามารถจัดให้มีการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชนเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ และฟื้นฟูเด็กกระทำผิดให้มีความสำนึกในสิ่งที่ตนกระทำเพื่อมิให้หวนกลับมากระทำความผิดซ้ำได้อีก

DOWNLOAD : การนำวิธีการประชุมกลุ่มครอบครัวมาปรับใช้กับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน