ข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทในสัญญาพาณิชย์ระหว่างประเทศ: ศึกษา กรณีข้อพิจารณาระหว่างสัญญาอนุญาโตตุลาการและสัญญาเลือกศาล
โดย สุปราณี อาจจิตต์
ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2554
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงปัญหาจากการทำข้อตกลงเกี่ยวกับ การระงับข้อพิพาทในสัญญาพาณิชย์ระหว่างประเทศ ระหว่างวิธีการระงับข้อพิพาทโดย อนุญาโตตุลาการและโดยเลือกใช้ศาลในประเทศใดประเทศหนึ่ง จากการศึกษาพบว่า การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้รับความนิยมมากกว่าการระงับข้อพิพาทโดยศาล เนื่องจากคู่กรณีสามารถเลือกอนุญาโตตุลาการที่เป็นกลางและมีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาข้อพิพาทเป็นอย่างดี แต่ก็มีข้อด้อยในแง่การบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตามคำชี้ขาดซึ่งจะต้องร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดอีกครั้งหนึ่งหนึ่ง และปัญหาที่เกิดจากทำสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ไม่รัดกุมและขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายอนุญาโตตุลาการ ในขณะที่การระงับข้อพิพาทโดยศาลนั้นคำพิพากษาผูกพันคู่กรณีหากฝ่ายที่แพ้คดีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ฝ่ายชนะคดีก็สามารถร้องขอต่อศาลให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์บังคับคดีได้ แต่ก็มีข้อด้อยเพราะการพิจารณาคดีที่ยุ่งยากซับซ้อนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดีและปัญหาการยอมรับบังคับใช้ข้อตกลงเลือกศาลของศาลไทยอีกด้วย
ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะดังนี้ คู่สัญญาในสัญญาพาณิชย์ระหว่างประเทศที่เลือก ใช้วิธีการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาตโตตุลาการควรจะได้ศึกษากฎหมายว่าด้วยการ อนุญาโตตุลาการของประเทศนั้นๆอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้การบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติตามสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการเลือกใช้วิธีการระงับข้อพิพาทโดยสัญญาเลือกศาลนั้น ประเทศไทยไม่มีบทบัญญัติรับรองถึงความสมบูรณ์ของข้อตกลงเลือกศาลไว้อย่างชัดเจน ผู้เขียนจึงเห็นว่า ประเทศไทยควรมีบทบัญญัติที่ยอมรับการบังคับใช้ข้อตกลงเลือกศาลในสัญญาพาณิชย์ระหว่างประเทศไว้อย่างชัดเจน รวมถึงควรให้โอกาสจำเลยโต้แย้งคัดค้านอำนาจการพิจารณาคดีของศาลไทยตามหลัก Forum Non Conveniens (การขอให้ศาลจำหน่ายคดีเนื่องจากมีศาลอื่นที่เหมาะสมกับการพิจารณาคดีมากกว่า) และ หลัก Lis Alibi Penden (การขอให้ศาลจำหน่ายคดีเนื่องจากมีศาลอื่นได้พิจารณาคดีนั้นแล้ว) อีกด้วย