ความเป็นภาวะวิสัยในคดีวิสามัญฆาตกรรม: ศึกษากระบวนการค้นหาความจริงในชั้นเจ้าพนักงาน

โดย บุณณดา หาญทวีพันธุ์

ปีที่   5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2554

บทคัดย่อ
ความผิดอาญาเป็นเงื่อนไขในการบังคับใช้โทษวิธีการเพื่อความปลอดภัย และมาตรการบังคับทางอาญาอื่น ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการที่เป็นผลร้ายต่อผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นโทษต่อชีวิต ทรัพย์สินหรือเสรีภาพดังนั้น การจะบังคับใช้โทษทางอาญา วิธีการเพื่อความปลอดภัย และมาตรการบังคับทางอาญาอื่นแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้หรือไม่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดจริงการพิสูจน์เช่นว่านั้นก็โดยการพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหลายที่ได้ทำการรวบรวมขึ้นและมีการดำเนินคดีตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมกระบวนการตัดสินความผิดแก่ผู้ถูกกล่าวหาผู้ต้องหา หรือจำเลย โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมเช่น ในการใช้กำลังของเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา หรือจำเลยถึงแก่ความตาย ที่เรียกว่าคดีวิสามัญฆาตกรรมถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ซึ่งฝ่าฝืนต่อหลักการสากลและกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของเจ้าพนักงานว่าได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นภารกิจของรัฐที่จะต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนเป็นกิจจะลักษณะและเป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือที่เรียกว่า มีความเป็นภาวะวิสัยของกระบวนการตรวจสอบโดยทุกหน่วยงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติงานอย่างเป็นองค์รวมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ปัจเจกชน ในขณะเดียวกันก็จะต้องเป็นหลักประกันว่าเจ้าพนักงานที่กระทำไปโดยชอบจะได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

ระบบการค้นหาความจริงในคดีวิสามัญฆาตกรรมที่มีความเป็นภาวะวิสัย(Objectivity) หมายความถึง ระบบนั้นๆ จะต้องมีการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทั้งหลายอย่างเป็นกลางและกระตือรือร้น (Active) ให้เป็นไปตามเหตุและผลของแต่ละกรณีในการค้นหาความจริงแท้ในเนื้อหาของแต่ละคดีให้ปรากฎชัด ซึ่งในกรณีที่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันก็ต้องมีการดำเนินการแบบเดียวกันจะดำเนินการให้แตกต่างตามอำเภอใจมิได้

ซึ่งสภาพการณ์ในปัจจุบันแห่งกระบวนการค้นหาความจริงในคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ดำเนินอยู่ในประเทศไทยยังไม่มีความเป็นภาวะวิสัยเพียงพอ เพราะยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในสองมิติ กล่าวคือ มิติด้านการบริหารจัดการเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายขององค์กรต่างๆ อยู่ในวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ขาดเอกภาพในการบริหารงาน และปัญหาหลักอีกมิติหนึ่งคือ การขาดการตรวจสอบถ่วงดุล (check and balance) ที่เหมาะสมระหว่างองค์กรในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากระบบการดำเนินคดีอาญาของไทยแบ่งแยกหน้าที่สอบสวน หน้าที่ฟ้องร้องและหน้าที่พิจารณาพิพากษาออกจากกันแทบจะเด็ดขาดโดยเฉพาะในชั้นเจ้าพนักงาน กระบวนการ “สอบสวน”เพื่อค้นหาความจริง ไม่มีกลไกใดที่จะคานอำนาจของพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นฝ่ายตำรวจได้เลย พนักงานสอบสวนยังเป็นผู้มีบทบาทและอำนาจหลักในการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในทุกประเด็นแห่งคดี หน่วยงานอื่นมีฐานะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือพนักงานสอบสวนเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความบกพร่องผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมตลอดจนการใช้อำนาจในหลายกรณี เป็นผลให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมและประชาชนทั่วไปอันนำไปสู่ความเชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรมของรัฐในภาพรวมผู้เขียนจึงเห็นควรเสนอแนะให้มีการแก้ไขในเชิงระบบโดยให้กลไกการค้นหาความจริงในคดีมีความสัมพันธ์กันในลักษณะของ “กระบวน” มากกว่า “เขตอำนาจ”โดยการปรับรวมขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพให้เป็นกระบวนการเดียวกันและดำเนินการไปพร้อมกันกับการค้นหาความจริงเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าพนักงาน โดยต้องกำหนดอำนาจหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจนของแต่ละองค์กรแตกต่างกันไป ขึ้นกับความเชี่ยวชาญในการแสวงหาข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นของคดี กล่าวคือแพทย์ต้องมีอำนาจเต็มในการชันสูตรพลิกศพและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการตายทั้งหมด พนักงานอัยการต้องมีอำนาจเต็มในการควบคุมและกำกับดูแลการสอบสวนของพนักงานสอบสวนอย่างใกล้ชิด ในฐานะที่เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้สิ่งที่จะขาดเสียมิได้ คือกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลโดยองค์กรภายนอก กล่าวคือการไต่สวนในศาล ศาลต้องมีอำนาจทำคำสั่งในประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าพนักงานได้ด้วย โดยในการไต่สวนของศาลต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน โดยเฉพาะองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชน หรือสภาทนายความมีสิทธิเข้ามาร่วมในกระบวนการไต่สวนด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับการตรวจสอบให้มีความเป็นภาวะวิสัยและสามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตายและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมส่วนรวมได้อย่างแท้จริง

DOWNLOAD : ความเป็นภาวะวิสัยในคดีวิสามัญฆาตกรรม: ศึกษากระบวนการค้นหาความจริงในชั้นเจ้าพนักงาน