มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล: ศึกษาเฉพาะกรณีการแยกแยะประเภทข้อมูลส่วนบุคคล
โดย สกล อดิศรประเสริฐ
ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555
บทคัดย่อ
เนื่องด้วยเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีบทบาทสำคัญมากต่อผู้คนในสังคมเนื่องจากได้มีบางคนในสังคมได้นำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นไปใช้ในทางที่มิชอบ ซึ่งได้สร้างปัญหาให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ว่าทางร่างกาย ทรัพย์สิน หรือชื่อเสียง โดยข้อมูลส่วนบุคคลที่มีการละเมิดนั้นก็สามารถแบ่งแยกออกได้เป็นสองประเภท คือ ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป จะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก หากมีการเปิดเผยออกไปก็จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลมากนัก และข้อมูลส่วนบุคคลที่กระทบต่อความรู้สึก จะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลไม่ว่าจะทางด้านความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน หรือ ชื่อเสียง หากว่ามีการเปิดเผยให้แก่บุคคลอื่น ดังนี้ จากสภาพปัญหาดังกล่าวประเทศไทยจึงได้ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ….ขึ้นใช้บังคับ แต่เนื่องด้วยมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสองประเภทของประเทศไทย ตาม ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ที่กำลังจะมีผลใช้บังคับดังกล่าว ผู้เขียนได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีการแยกแยะประเภทข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปและข้อมูลส่วนบุคคลที่กระทบต่อความรู้สึกไว้ไม่ชัดเจนด้วยเหตุที่ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. ได้กำหนดคำนิยามศัพท์ของข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสองประเภทไว้รวมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกคำนิยามคำว่า ข้อมูลส่วนบุคคลประเภททั่วไป และข้อมูลส่วนบุคคลประเภทที่กระทบต่อความรู้สึกไว้เป็นการเฉพาะซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาในการตีความคำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. ว่ามีความหมายและขอบเขตกว้างขวางเพียงใด และจากลักษณะมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลประเภทที่กระทบต่อความรู้สึกตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล พ.ศ. … ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะวางมาตรการทางกฎหมายสำหรับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประเภทที่กระทบต่อความรู้สึกไว้เข้มงวดกว่าข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปแล้วก็ตาม แต่ก็อาจยังมีความคุ้มครองที่ไม่เข้มงวดและมีความเป็นระบบมากนักหากเทียบเคียงกับกฎหมายของต่างประเทศ (โดยศึกษาเฉพาะประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศออสเตรเลียประเทศสาธารณรัฐอิตาลี และประเทศสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมัน) ผู้ศึกษาจึงได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์หลักเกณฑ์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประเภทข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปและประเภทข้อมูลส่วนบุคคลที่กระทบต่อความรู้สึกของ กฎหมายต่างประเทศดังกล่าว เพื่อที่จะนำมาตรการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศต่างๆ ดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. ดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์และเพิ่มประสิทธิภาพของร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการช่วยลดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
จากการศึกษาผู้เขียนพบว่า แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. จะแยกแยะประเภทข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปและข้อมูลส่วนบุคคลที่กระทบต่อความรู้สึกไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีความไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความได้และมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประเภทที่กระทบต่อความรู้สึกก็ยังมีความไม่เข้มงวดและมีความเป็นระบบหากเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศตามที่กล่าวข้างต้น รวมถึงการกำหนดคำนิยามศัพท์ คำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” ก็ยังขาดความชัดเจนว่าข้อมูลส่วนบุคคลตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ….มีความหมายและขอบเขตกว้างขวางเพียงใด อันอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติแก่ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ….ดังกล่าวได้
ดังนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. ของประเทศไทยจึงควรมีการแยกแยะคำนิยามศัพท์ของข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสองประเภทไว้อย่างชัดเจน รวมถึงมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับข้อมูลส่วนบุคคลประเภทที่มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกควรมีมาตรการที่เข้มงวดมากกว่าข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปดังเช่นกรณีกฎหมายของต่างประเทศ และควรมีการกำหนดคำนิยามศัพท์คำว่า“ข้อมูลส่วนบุคคล” ให้สามารถครอบคลุมถึงข้อมูลส่วนบุคคลทุกประเภท