มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ต: ศึกษากรณีการดูแลผลประโยชน์ของคู่กรณี ในธุรกิจเครื่องประดับราคาแพง

โดย วีระยุทธ จตุภาคสัมพันธ์

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555

บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการศึกษาปัญหาเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อ สินค้าประเภทเครื่องประดับที่ประกอบด้วยอัญมณีผ่านทางอินเตอร์เน็ตเนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายประเภทที่สนใจช่องทางในการประกอบธุรกิจผ่านทางอินเตอร์เน็ตซึ่งธุรกิจเครื่องประดับที่ประกอบด้วยอัญมณีก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่ให้ความสนใจทำธุรกิจผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตเนื่องจากช่องทางอินเตอร์เน็ตนี้ จะเป็นการเพิ่มความสะดวก และประสิทธิภาพใน การประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายที่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหลอกลวงผู้บริโภคโดยใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตโดยอาศัยการที่ผู้บริโภคไม่สามารถรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงและผู้บริโภคไม่สามารถทำการตรวจสอบสินค้าที่ตนจะซื้อก่อนได้จนกว่าจะได้รับสินค้าจากผู้ประกอบการ แม้ในปัจจุบันจะมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคอยู่หลายฉบับก็ตาม แต่กฎหมายทั้งหมดที่มีนั้น เป็นกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วหรือเป็นการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วให้แก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ปัจจุบันนั้นได้มีกฎหมายฉบับใหม่ ที่มีความเหมาะสมในการนำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการคุ้มครองผู้บริโภค คือพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลักษณะที่มีการให้คนกลางซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นอิสระจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้ามาดูแลการชำระหนี้ของคู่สัญญาให้เป็นไปตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกัน ซึ่งเป็นกฎหมายในเชิงลักษณะป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของคู่สัญญา แต่แม้กฎหมายดังกล่าวจะเป็นกฎหมายที่ดี แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องบางประการในการนำมาใช้ ซึ่งประการที่สำคัญคือเรื่องของสภาพบังคับเนื่องจากการจะใช้กฎหมายฉบับนี้ต้องเป็นความสมัครใจของคู่สัญญาเท่านั้น กฎหมายฉบับนี้จึงจะมีผลใช้บังคับได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ตกลงที่จะใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้กับผู้บริโภค กฎหมายดังกล่าวนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ในการนำมาใช้ในการคุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้มีการบัญญัติถึงการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาผ่านทางอินเตอร์เน็ตอีกด้วย

ผู้ศึกษาได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายว่าจำเป็นต้องมีการบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551ขึ้นมาเพื่อรองรับสภาพการประกอบการ กฎหมายดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังการประกอบการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาอาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลางของการดำเนินกิจกรรมมากขึ้น กฎหมายดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อรองรับธุรกรรมที่ทำขึ้นโดยอินเตอร์เน็ต จึงจำเป็นต้องมีการบัญญัติ คำนิยามของคำว่า “การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาทางอินเตอร์เน็ต” ไว้ในพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ทั้งนี้เพื่อความชัดเจนในการนำกฎหมายดูแลผลประโยชน์มาใช้กับการซื้อสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต และจำเป็นต้องกำหนดให้ธุรกิจขายเครื่องประดับที่ประกอบด้วยอัญมณีผ่านทางอินเตอร์เน็ตเป็นธุรกิจควบคุมวิธีการชำระเงินโดยให้ผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้ต้องมีช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถใช้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาเข้ามาคุ้มครองผู้บริโภคเองได้ และจำเป็นต้องมีการบัญญัติเรื่องหลักประกันของผู้ที่ประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ไว้ในพระราชบัญญัติดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 โดยควรที่จะกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ต้องวางเงินประกันหรือหลักประกันการปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบที่ออกตามกฎหมายดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา รวมถึงการกำหนดให้มีกองทุนประกันความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของตัวแทนผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา หรือลูกจ้างหรือผู้กระการทำการแทนผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา โดยนำแนวคิดในเรื่อง Surety Bond และ Fidelity Bond ตามกฎหมายของประเทศสหรัฐ อเมริกามาปรับใช้กับประเทศไทยอีกทั้งภาครัฐจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ถึงสิทธิของผู้บริโภค และให้ผู้บริโภคได้ตื่นตัวและตระหนักถึงสิทธิของผู้บริโภคเอง โดยสนใจที่จะตรวจสอบข้อมูลและสิทธิของตนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะทำให้การใช้กฎหมายต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทั้งนี้รวมถึงกฎหมายดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ด้วย

DOWNLOAD : มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ต: ศึกษากรณีการดูแลผลประโยชน์ของคู่กรณี ในธุรกิจเครื่องประดับราคาแพง