มาตรการเสริมโทษทางอาญา: ศึกษากรณีการให้ทำงานบริการสังคม
โดย พรรณิภา พลศิลป์
ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555
บทคัดย่อ
การลงโทษทางอาญา เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตัวผู้กระทำผิดในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้กระทำผิด แต่จะลงโทษอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับสภาพความผิด และตัวผู้กระทำผิดเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ดังนั้น การพัฒนาทางเลือกในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ด้วยวัตถุประสงค์ของการลงโทษในปัจจุบันที่มุ่งเน้นถึงการลงโทษเพื่อเป็นการแก้ไขฟื้นฟูและปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อให้ผู้กระทำผิดกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติ แต่ด้วยโทษที่เป็นโทษหลักซึ่งนิยมนำมาปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดอย่างโทษจำคุก หรือโทษปรับ ไม่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการลงโทษในกรณีดังกล่าวและไม่อาจนำมาใช้ได้กับความผิดทุกประเภท จึงได้เกิดรูปแบบการลงโทษด้วยวิธีใหม่ๆ อย่างเช่น การคุมประพฤติ การลงโทษโดยชุมชน การจำคุกในวันหยุด การปรับรายวัน เป็นต้น และมาตรการทำงานบริการสังคม(The Community Service Order) ก็เป็นมาตรการลงโทษแนวใหม่อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะกำหนดให้ผู้กระทำผิดทำงานบริการแก่สังคม ชุมชน หรือองค์การสาธารณกุศลโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนภายในระยะเวลากำหนด โดยไม่มีการควบคุมตัวในเรือนจำหรือสถานที่กักขัง และการลงโทษด้วยมาตรการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดโดยมีส่วนช่วยสร้างจิตสำนึกให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นการชดใช้ความผิดที่ได้กระทำ เพื่อเป็นการทดแทนให้แก่เหยื่อ และเพื่อเป็นการลงโทษโดยถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในเรื่องของแรงกายและเวลา ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย ได้นำมาบัญญัติไว้ในกรณีเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการคุมประพฤติตาม มาตรา 56 มีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงโทษจำคุกระยะสั้น และกรณีนำมาใช้เป็นมาตรการแทนโทษปรับเพื่อหลีกเลี่ยงการนำผู้ต้องโทษปรับไปกักขังแทนค่าปรับตาม มาตรา 30/1
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาถึงมาตรการทำงานบริการสังคม โดยผู้เขียนจะทำการศึกษา วิเคราะห์ถึงการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในประมวลกฎหมายอาญา ว่ามีหลักเกณฑ์ในการบังคับใช้ อย่างไรมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการพัฒนาให้การทำงานบริการสังคมสามารถนำมาใช้ในลักษณะของโทษทางอาญาประเภทหนึ่ง โดยศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Civil Law คือประเทศฝรั่งเศส และประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Common Lawคือ ประเทศอังกฤษ เป็นกรณีศึกษาการบังคับใช้มาตรการทำงานบริการสังคม ในรูปแบบและหลักเกณฑ์ในลักษณะที่เป็นโทษทางอาญาประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นโทษแทนที่หรือเป็นโทษเสริมและด้วยประเภทของโทษที่มีความหลากหลาย สามารถใช้แทนโทษหลักอย่างเช่น โทษจำคุกและโทษปรับได้ เพื่อหลีกเลี่ยงโทษจำคุกระยะสั้น หรือการกักขังกรณีไม่สามารถบังคับค่าปรับได้ ศาลจึงสามารถใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษได้อย่างเหมาะสมกับสภาพความผิดและตัวผู้กระทำผิด ทำให้การลงโทษด้วยวิธีการดังกล่าวนอกจากจะเป็นผลร้ายกับตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ยังเกิดประโยชน์ในด้านการแก้ไขฟื้นฟู ปรับปรุงพฤติกรรมผู้กระทำผิด และสังคมได้รับรู้ถึงค่าของการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งยังส่งผลดีในด้านการบริหารงานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
จากการศึกษาพบว่า ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยมีประเภทของโทษที่จำกัด มีการนำการทำงานบริการสังคมมาใช้ในกรณีเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการคุมประพฤติ เพื่อหลีกเลี่ยงโทษจำคุกระยะสั้นเท่านั้นศาลไม่อาจเลือกใช้บังคับในลักษณะของโทษได้ และในกรณีผู้ต้องโทษปรับไม่มีเงินชำระค่าปรับ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการนำตัวผู้ต้องโทษปรับไปกักขังแทนค่าปรับจึงให้ผู้ต้องโทษปรับร้องขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่นานาประเทศได้พัฒนาให้มาตรการดังกล่าว เป็นโทษทางอาญาประเภทหนึ่งและสามารถใช้ควบคู่กับโทษเสริมประเภทอื่นๆ ได้ หรือเป็นโทษแทนที่โทษจำคุกและสามารถใช้ควบคู่กับการรอการลงโทษโดยไม่ผูกติดกับการคุมประพฤติ เป็นเงื่อนไขของการสั่งชะลอฟ้อง เป็นมาตรการใช้แทนโทษปรับ หรือเป็นเงื่อนไขของการพักการลงโทษจำคุกเป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษาถึงแนวคิดและหลักเกณฑ์ในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าววิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสีย เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาให้การทำงานบริการสังคมมีลักษณะเป็นโทษทางอาญาประเภทหนึ่งและสมารถปรับใช้กับกฎหมายของไทยได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการลงโทษต่อไป
DOWNLOAD : มาตรการเสริมโทษทางอาญา: ศึกษากรณีการให้ทำงานบริการสังคม