วิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายในการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
โดย สาโรจน์ คมคาย
ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555
บทคัดย่อ
งานศึกษาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลในการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองไม่ว่าจะเป็นมาตรการผ่อนผัน การนำเข้าโดยถูกกฎหมาย การพิสูจน์สัญชาติ และการใช้มาตรการทางกฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมมิให้แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาทำงาน โดยศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค แนวนโยบายของรัฐและบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา โดยศึกษามติคณะรัฐมนตรี พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
จากการศึกษาพบว่า รัฐบาลที่ผ่านมาได้พยายามแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ด้วยการกำหนดนโยบายผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ชั่วคราวตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด ตั้งแต่ปี 2535-ปัจจุบัน การจัดรูปแบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในรูปของคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้า ควบคู่ไปกับการเจรจาความร่วมมือระหว่าประเทศเพื่อให้มีการพิสูจน์สัญชาติ และนำเข้าอย่างถูกฎหมายรวมทั้งใช้มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง การดำเนินการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองตามมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญที่ยังมีปัญหาการบังคับใช้และขาดความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน
จากข้อสรุปข้างต้นผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดความสอดคล้อง โดยได้เสนอแก้ปรับปรุงกฎหมายที่มีปัญหาอุปสรรคและขาดความสอดคล้องเชื่อมโยงกันอันประกอบด้วย พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 รวมทั้งอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กฎกระทรวงแรงงาน ประกาศ กระทรวงมหาดไทย และคำสั่งกระทรวงแรงงาน รวมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะในด้านนโยบายในประเด็น การควบคุมดูแลต่างด้าว การพัฒนาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง การบูรณาการด้านข้อมูล การป้องกันและปราบปราม การลดขั้นตอนในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว การลดการผึ่งพาแรงงานต่างด้าว การสร้างจิตสำนึกนายจ้าง/ผู้ประกอบการ และการประชาสัมพันธ์ให้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนทราบถึงบทลงโทษหากมีการลักลอบเข้ามาทำงาน
DOWNLOAD : วิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายในการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง