องค์กรตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจโดยการรับเรื่องร้องทุกข์
โดย พงษ์ธร ธัญญสิริ
ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจโดยการรับเรื่องร้องทุกข์ โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบองค์กรตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจโดยการรับเรื่องร้องทุกข์ในประเทศและต่างประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเสนอมาตรการทางกฎหมายที่เป็นแนวทางในการจัดตั้งองค์กรตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจโดยการรับเรื่องร้องทุกข์ ในประเทศไทยที่มีความเป็นอิสระ และเหมาะสม ที่จะทำให้องค์กรตำรวจสามารถปฎิบัติงานในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
จากการศึกษาพบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีกลไกในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไว้เป็นการเฉพาะ แต่มีในลักษณะที่เป็นหน่วยงานภายในที่มาตรวจสอบเท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นหน่วยงานที่มาตรวจสอบจากภายนอกเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ กลไกการตรวจสอบด้วยองค์กรภายในมี 2 ลักษณะ คือ สำนักงานจเรตำรวจและคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ โดยต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งเป็นการสร้างกลไกในการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส เป็นธรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างเพียงพออีกทั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ มีอยู่ 3 ระดับ คือ ในระดับกรุงเทพมหานครระดับจังหวัด และระดับสถานีตำรวจ มีหน้าที่เพียงแค่ให้คำปรึกษาในการกำหนดนโยบาย รับคำร้องเรียน และกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เท่านั้นไปยังคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบในการรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการได้อย่างเด็ดขาดแท้จริง ผลการศึกษาพบว่า การจัดตั้งองค์กรและระบบการตรวจสอบในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเป็นการบรรเทาสภาพปัญหาที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำที่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจบางส่วนที่ปฏิบัติไม่เป็นธรรม ใช้อำนาจโดยมิชอบและบางกรณีได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจโดยมีกลไกการตรวจสอบในรูปแบบของคณะกรรมการอิสระรับเรื่องร้องทุกข์จากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่จะปฏิบัติงานคู่ขนานและเชื่อมต่อกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเห็นสมควรจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์จากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ที่มีลักษณะเป็นหน่วยงานอิสระไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีกรรมการที่ทำงานเต็มเวลาและเป็นอิสระ โดยมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการบรรเทาทุกข์ของบุคคลผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำของข้าราชการตำรวจ โดยผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการจะมีผลผูกพันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รายงานผลตรงต่อคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป ประกอบกับมีสำนักงานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ และมีเลขาธิการที่เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นฝ่ายเลขานุการ
DOWNLOAD : องค์กรตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจโดยการรับเรื่องร้องทุกข์
Comments are closed.