Improvement of cytoplasmic male sterile lines of rice by backcrossing and combining ability test
โดย พชระ แสงสวงค์
ปี 2555
บทคัดย่อ
การพัฒนาสายพันธุ์เพศผู้เป็นหมันของข้าวโดยวิธีการผสมกลับและทดสอบสมรรถนะการผสมได้ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ในช่วงระหว่างปี 2553-2555 มีวัตถุประสงค์คือพัฒนาสายพันธุ์เรณูเป็นหมันที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นสายพันธุ์แม่ในการผลิตข้าวลูกผสมระบบ 3 สายพันธุ์ โดยนำเมล็ดลูกผสมกลับ BC1A/ (สายพันธุ์ A) และเมล็ดลูกผสมชั่วที่ 3 (สายพันธุ์ B) จำนวน 15 คู่ผสม และผสมกลับอีกถึงชั่วที่ 5 ได้ลูกผสมมีเรณูเป็นหมันสมบูรณ์ 3 คู่ผสม ได้แก่ IR79156A//IR79156B/CNT1, IR80156A//IR80156B/IR46R และ IR80156A//IR80156B /SPR1 เมื่อนำสายพันธุ์ A ใหม่ 3 สายพันธุ์ ผสมกับสายพันธุ์แก้ความเป็นหมัน 5 สายพันธุ์ และนำเมล็ดลูกผสมชั่วที่ 1 ไปปลูกทดสอบผลผลิตพบว่า ข้าวลูกผสมระหว่าง PTT08001A/RD31 ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ RD31 และ RDH1 ประมาณร้อยละ 35 และ 41 ตามลำดับ
นอกจากนี้พบว่ายังมีข้าวลูกผสมที่ให้ค่าความดีเด่นเหนือค่าเฉลี่ยของสายพันธุ์พ่อ แม่ จำนวน 5 คู่ผสมได้แก่ PTT08003A/CK81, PTT08002A/CK81, PTT08002A/SPR1, PTT08001A/SPR1 และ PTT08001A/RD31 และอีก4 คู่ผสม มีค่าความดีเด่นเหนือสาย พันธุ์พ่อหรือแม่ที่ดีที่สุด ได้แก่ PTT08003A/CK81, PTT08001A/RD31, PTT08003A/SPR1 และ PTT08002A/SPR1 ส่วนค่าความดีเด่นเหนือสายพันธุ์เปรียบเทียบ (กขผ1 ปทุมธานี1 พิษณุโลก 2) และสายพันธุ์ลูกผสมที่ปลูกเป็นการค้าของจีน (HSLY-26) ได้แก่ คู่ผสม PTT08001A/RD31 ข้าวสายพันธุ์เรณูเป็นหมันที่พัฒนาขึ้นใหม่ คือพันธุ์ PTT08001A และสายพันธุ์แก้ความเป็นหมัน RD31 มีค่าสมรรถนะการผสมทั่วไปดี ส่วนคู่ผสมที่มีค่าสมรรถนะการผสมเฉพาะสูง ได้แก่ PTT08001A/RD31, PTT08002A/SPR1 และ PTT08002A/CK168