A study on diversity of phytoplanktons and wate quality in Morakot Pond, Rajamangala University of Technology Thanyaburi

โดย คณิน ศรีรัตน์, จาริษา สุขศรี และ จุฑาทิพย์ หงสกุล

ปี 2555

บทคัดย่อ

การศึกษาความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืชและคุณภาพน้ำในสระมรกต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อศึกษาถึงความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืชที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ยูโทรฟิเคชันคุณภาพน้ำทางกายภาพ เคมีและชีวภาพ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างแพลงก์ตอนพืชกับคุณภาพน้ำระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม 2554 พบแพลงก์ตอนพืชทั้งหมด 7 ดิวิชัน 31 สปีชีส์โดยสาหร่ายดิวิชันเด่นที่พบบริเวณสระมรกต คือ Cyanophyta, Chlorophyta, Euglenophyta และ Pyrrophyta ตามลำดับ จากการใช้โปรแกรม Multivariate Statistical Package (MVSP) เวอร์ชัน 3.1 เพื่อหาชนิดเด่น พบแพลงก์ตอนพืชชนิดเด่น ดังนี้ Cylindrospermopsis raciborskii (Wolosz) Seenayya & Subba, Cylindrospermopsis philippinensis (Taylor) Komárek, Euglena acus Ehrenberg  nach Skuja, Planktolyngbya contorta (Lemmermann) Anagnostidis & Komárek และ Monoraphidium contortum (Thuret) Komàrková-Legnerová

การศึกษาค่าสหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างคุณภาพน้ำทางกายภาพ เคมี และชีวภาพกับแพลงก์ตอนพืช พบว่า Cylindrospermopsis raciborskii (Wolosz) Seenayya & Subba มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความลึกของแหล่งน้ำ และความเป็นกรด-ด่าง แต่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอุณหภูมิอากาศและอุณหภูมิน้ำสำหรับCylindrospermopsis philippinensis (Taylor) Komárek มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความลึกของแหล่งน้ำ ค่าการนำไฟฟ้า ปริมาณฟอสเฟตที่ละลายน้ำ และคลอโรฟิลล์ เอ แต่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับของแข็งที่ละลายน้ำ ส่วน Euglena acus Ehrenberg nach Skuja มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความเป็นกรด-ด่าง และปริมาณฟอสเฟตที่ละลายน้ำแต่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับปริมาณแอมโมเนีย-ไนโตรเจนและ Planktolyngbya contorta Lemmermann สำหรับ Planktolyngbya contorta Lemmermann มีความสัมพันธ์เชิงลบกับปริมาณไนเตรท-ไนโตรเจนปริมาณฟอสเฟตที่ละลายน้ำแต่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับปริมาณแอมโมเนีย-ไนโตรเจนส่วน Monoraphidium contortum (Thuret) Komárková-Legnerová มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความลึกที่แสงส่องถึง ของแข็งที่ละลายน้ำและCylindrospermopsis philippinensis (Taylor) Komárek

เมื่อประเมินคุณภาพน้ำโดยใช้แพลงก์ตอนพืชชนิดเด่นตาม AARL-PP Score (Applied Algae Research Laboratory Phytoplankton Score) พบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในระดับที่มีสารอาหารปานกลางถึงสูง (Meso – eurtophic status) และเมื่อประเมินคุณภาพน้ำโดยใช้คุณภาพน้ำทางกายภาพ เคมีและชีวภาพบางประการตาม AARL-PC Score (Applied Algae Research Laboratory Physical and Chemical Properties Score) พบว่าคุณภาพน้ำปานกลางถึงไม่ดี (Meso-eutrophic) เมื่อพิจารณาคุณภาพน้ำตามมาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินสามารถจัดคุณภาพน้ำอยู่ในประเภทที่ 3 สามารถใช้อุปโภคบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อนสามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย

Download : A study on diversity of phytoplanktons and wate quality in Morakot Pond, Rajamangala Universitv of Technology Thanyaburi