A comparative dtudy of eupotorium odortum L. and antibiotic inhibition of bacteria

โดย ปนิศา นมัสการ, สุภาพร รัตนพลที และ อนุชสรา คำตัน

ปี 2555

บทคัดย่อ

การศึกษาการเปรียบเทียบสารสกัดจากใบสาบเสือกับยาปฏิชีวนะในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus aureus ทำการสกัดใบสาบเสือด้วยตัวทำละลายสองชนิด คือ น้ำกลั่นและเอทานอล 95%  ได้สารผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะสีเขียวเข้ม เพื่อหาความเข้มข้นต่ำสุดของสารสกัดใบสาบเสือที่สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย (MIC) พบว่าสารสกัดจากใบสาบเสือที่สกัดด้วย เอทานอล 95% มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus aureus ได้ดีที่สุดโดยมีค่า MIC เท่ากับ 125 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เท่ากันในเชื้อทั้งสองชนิด จากนั้นนำมาทดสอบหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (MBC) ของสารสกัดจากใบสาบเสือด้วยวิธี Spread plate พบว่าสารสกัดใบสาบเสือที่สกัดด้วยเอทานอล 95% มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus aureus ได้ดีที่สุดโดยมีค่า MBC เท่ากับ 1,000 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร จากนั้นนำสารสกัดใบสาบเสือที่สกัดด้วยน้ำกลั่นไปทำให้อยู่ในรูปผงแห้งเพื่อศึกษาเปรียบเทียบการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียโดยวิธี Agar Diffusion Test ระหว่างสารสกัดใบสาบเสือที่สกัดด้วยเอทานอล 95% น้ำกลั่น และสารสกัดชนิดผงแห้งกับยาปฏิชีวนะคานาไมซิน พบว่าคานาไมซินมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus aureus ได้ดีที่สุดในช่วง 4-5 เท่าของสารทั้ง 3 ชนิด เมื่อทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพสารสกัดจากใบสาบเสือด้วยกัน พบว่าสารสกัดจากใบสาบเสือที่สกัดด้วยเอทานอล 95% มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียได้ดีที่สุด สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus aureus ได้ร้อยละ 33.56 และ 28.76 ของการใช้ยาปฏิชีวนะ รองลงมาคือ สารสกัดชนิดผงแห้งและสารสกัดจากน้ำกลั่น เมื่อทำการวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Inhibition zone ของเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 29.2 มิลลิเมตร 9.80 มิลลิเมตร 7.53 มิลลิเมตร และ 3.86 มิลลิเมตร ตามลำดับ และค่าเฉลี่ยเส้นผ่าศูนย์กลางของ Inhibition zone ของเชื้อ Staphylococcus aureus ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ  28.26 มิลลิเมตร 8.13 มิลลิเมตร 4.72 มิลลิเมตรและ 3.06 มิลลิเมตร ตามลำดับ  จากการวิเคราะห์ผลทางสถิติพบว่าประสิทธิภาพของสารทั้ง 4 ชนิด มีผลในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียทั้งสองชนิดแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< 0.05)

Download : A comparative dtudy of eupotorium odortum L. and antibiotic inhibition of bacteria