A Development of neem oil pressing machine using a single screw to study a suitable production condition

โดย ชลิตต์ มธุรสมนตรี

วารสารวิศวกรรมศาสตร์ ราชมงคล, ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 (ม.ค. – มิ.ย. 2548), หน้า 6-12. 

บทคัดย่อ

การทำโครงการวิจัย เรื่องการพัฒนา และการศึกษาสภาวะการผลิตที่เหมาะสม ในการบีบอัดน้ำมันออกจากเมล็ดสะเดา ด้วยเครื่องบีบอัดแบบเกลียวเดี่ยว มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนโครงการ “ การผลิตสารสกัดจากสะเดาเชิงธุรกิจ : วิทยาการเพื่อการการพึ่งพาตนเอง”  ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และเพื่อเป็นการพัฒนาแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ของเครื่องบีบอัดน้ำมันออกจากเมล็ดสะเดาให้สามารถใช้ปฏิบัติงานการศึกษาทดลองหาสภาวะเหมาะสมในการผลิต

การศึกษาทฤษฎีพื้นฐานของสะเดา อุปกรณ์ที่ใช้ในการปรับความเร็วรอบ เครื่องกลศาสตร์ไฟฟ้าและหลักการออกแบบเครื่องจักรกล เพื่อนำไปปรับปรุงเครื่องบีบอัดน้ำมันออกจากเมล็ดสะเดาให้สามารถทำงานได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

จากนั้นทำการศึกษาหาสภาวะในการผลิตที่เหมาะสมคือ ศึกษาผลของการบีบอัดน้ำมันจากเมล็ดสะเดาที่ผ่านการกะเทาะเปลือก ศึกษาผลของการบีบอัดน้ำมันจากเมล็ดสะเดาที่ยังไม่กะเทาะเปลือก ศึกษาการนำเมล็ดสะเดาที่ผ่านการบีบอัดมาแล้ว (กากสะเดา) มาทำการบีบอัดใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยศึกษาเกี่ยวกับระยะการบีบอัด (ความหนาของกากสะเดา) ความเร็วรอบของเกลียวบีบอัด ความเร็วรอบของชุดป้อนเมล็ด ว่ามีผลอย่างไรกับปริมาณน้ำมัน อุณหภูมิ และกระแสไฟฟ้าที่ใช้  ผลจากการศึกษาพบว่า เมล็ดสะเดาที่ผ่านมาการกะเทาะเปลือกแล้วจำนวน 1 กก. ใช้ระยะการบีบอัดให้ได้ความหนาของกากสะเดาเท่ากับ 2 มม. ความเร็วของเกลียวบีบอัดเท่ากับ 24 รอบ/นาที ความเร็วในการป้อนเมล็ดเท่ากับ 22 รอบ/นาที ได้น้ำมันสะเดา 218.20 กรัม  กาก 764.26 กรัม อุณหภูมิเกิดขึ้นขณะทำการบีบอัด 51.60  ค่ากระแสไฟฟ้าเท่ากับ 1.08 บาท ความเร็วในการผลิต 11.93 กก./ชม  ส่วนการบีบอัดน้ำมันจากสะเดาที่ไม่ได้ผ่านการกะเทาะเปลือก ได้น้ำมันสะเดา 162.13 กรัม กาก 824.87 กรัม อุณหภูมิเกิดขึ้นขณะทากรบีบอัด 62.85 และกากสะเดาที่ผ่านการบีบอัดมาแล้ว ได้น้ำมันสะเดา 45.87 กรัม กาก 940.67 กรัม อุณหภูมิเกิดขึ้นขณะทำการบีบอัด 71.24 จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการผลิต เพราะว่าได้ปริมาณน้ำมันไม่มากความร้อนในขณะทำการบีบอัดสูง ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่า

Download : A Development of neem oil pressing machine using a single screw to study a suitable production condition