By ทิตินัย เทียนแย้ม, ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์, ณัฐกฤษฏิ์ วีรกุลวัฒนา และ สุริยะ อนุตรพงษ์พันธ์
Year 2013
The 14th TSAE National Conference and the 6th TSAE International Conference : TSAE 2013. p.262-265
Abstract
การปลูกอ้อยในประเทศไทยใช้แรงงานในกระบวนการตัดเพื่อเตรียมท่อนพันธุ์และกระบวนการปลูก โดยคนงานทำงานอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งในช่วงกลางวัน ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกระบวนการนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น การใช้เครื่องปลูกอ้อยจึงเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมรรถนะของเครื่องปลูกอ้อยที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เครื่องปลูกอ้อยแบบป้อนเป็นลำ ซึ่งต้องใช้ลำอ้อยที่เก็บเกี่ยวโดยแรงงาน และเครื่องปลูกอ้อยแบบโรยท่อนพันธุ์ที่สามารถใช้ท่อนพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวโดยรถตัดอ้อย เพื่อเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจในการเลือกใช้ของเกษตรกร ในการศึกษาวิจัย ผู้ทำการศึกษาได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเขตจังหวัดขอนแก่น โดยวิธีการเก็บข้อมูลภาคสนาม ขณะที่เครื่องมีการใช้งานจริง แล้วนำมาวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงาน การวิเคราะห์ความสามารถการทำงาน และวิเคราะห์สาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะการทำงาน ผลการศึกษาพบว่า เครื่องปลูกอ้อยแบบป้อนเป็นลำ มีสมรรถนะต่ำกว่าเครื่องปลูกอ้อยแบบโรยท่อนพันธุ์ ซึ่งเกิดจากการใช้เวลาและแรงงานในการขนถ่ายท่อนพันธุ์ โดยเครื่องปลูกอ้อยแบบป้อนเป็นลำมีประสิทธิภาพการทำงานเฉลี่ยร้อยละ 45.94 ความสามารถการทำงานเฉลี่ย 2.22 ไร่ต่อชั่วโมงและเครื่องปลูกอ้อยแบบโรยท่อนพันธุ์ มีประสิทธิภาพการทำงานเฉลี่ยร้อยละ 65.36 ความสามารถทำงานเฉลี่ย 2.63 ไร่ต่อชั่วโมง
Download: การเปรียบเทียบสมรรถนะเครื่องปลูกอ้อยแบบป้อนเป็นลำและแบบโรยท่อนพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น