By สุภาษิต เสงี่ยมพงศ์, ยุทธนา เครือหาญชาญพงค์, อานนทน์ สายคำฟู, พงษ์ศักดิ์ ต่ายก้อนทอง, อัคคพล เสนาณรงค์ และ ขนิษฐ์ หว่านณรงค์
Year 2013
The 14th TSAE National Conference and the 6th TSAE International Conference : TSAE 2013. p.328-336
Abstract
จากปัญหาในการเกิดไฟไหม้ใบอ้อยที่เกษตรกรปล่อยไว้ในแปลง ทำให้ไฟไหม้ตออ้อยและตออ้อยได้รับความเสียหาย ซึ่งในปี 2545 สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมได้ออกแบบจอบหมุนสับใบอ้อยสำหรับพ่วงต่อกับแทรกเตอร์ขนาด 80 แรงม้า แต่เนื่องจากเกษตรกรหลายรายไม่มีรถแทรกเตอร์ขนาด 80 แรงม้า และคาดว่าถ้าออกแบบจอบหมุนสับกลบใบอ้อยสำหรับแทรกเตอร์ขนาดต่ำกว่า 80 แรงม้า อาจจะมีกำลังไม่เพียงพอ จึงได้ออกแบบเครื่องสับใบอ้อยซึ่งจะทำการสับใบอย่างเดียวโดยไม่กลบสำหรับพ่วงต่อกับแทรกเตอร์ขนาดต่ำกว่า 80 แรงม้า หลังจากนั้นจึงใช้จอบหมุนสับกลบใบอ้อยที่ออกแบบสำหรับแทรกเตอร์ขนาดต่ำกว่า 80 แรงม้าลงมาเช่นกันเข้าทำงานซ้ำอีกครั้งเพื่อสับกลบใบอ้อย หรือจะปล่อยใบอ้อยที่ถูกสับใบแล้วทิ้งคลุมแปลงไว้โดยไม่กลบสำหรับเกษตรกรที่ต้องการใบคลุมแปลงแต่ต้องการใบขนาดสั้น เพื่อให้สามารถใช้เครื่องหยอดปุ๋ยได้ง่าย การออกแบบเครื่องสับใบอ้อยนี้ได้ออกแบบให้ต่อพ่วงรถแทรกเตอร์แบบ 3 จุด ชุดหัวเกียร์อัตราทด 1.46:1 ถ่ายทอดกำลังจากเพลาถ่ายทอดกำลังรถแทรกเตอร์ ส่งกำลังผ่านเฟืองโซ่ไปหมุนเพลาใบมีด 2 ชุดบนล่าง หมุนสวนทางกันโดยเพลาใบมีดล่างหมุนด้วยความเร็วประมาณ 500 รอบ/นาที เพลาใบมีดบนหมุนด้วยความเร็วประมาณ 850 รอบ/นาที ใบมีดชุดล่างประกอบด้วยใบมีด 4 ชุด ชุดละ 13 ฟัน ใบมีดชุดบนประกอบด้วยจาน 14 จาน แต่ละจานติดใบมีดสามเหลี่ยมจำนวน 4 ใบ หน้ากว้างในการทำงาน 0.625 เมตร ผลการทำงานที่จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อใช้แทรกเตอร์ 24 แรงม้า ความยาวใบอ้อยก่อนทำงานมีค่าเฉลี่ย 1.13 เมตร หลังการใช้เครื่องสับใบอ้อยแล้ว ความยาวใบอ้อยเฉลี่ย 0.24 เมตร ความสามารถในการทำงาน 1.34 ไร่/ชม. อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 1.95 ลิตร/ไร่ ความหนาใบอ้อย 0.06 เมตร ที่ความชื้นดิน 10.7 เปอร์เซ็นต์ (มาตรฐานแห้ง) จากการทดสอบและวัดการใช้กำลัง โดยการต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาด 24 แรงม้า พบว่าใช้กำลังในการสับใบอ้อย 4.43 กิโลวัตต์/เมตร และใช้กำลังในการสับกลบใบอ้อยด้วยเครื่องสับกลบใบอ้อยตามหลังการใช้เครื่องสับใบอ้อยดังกล่าว 7.28 กิโลวัตต์/เมตร รวมใช้กำลังทั้งสองขั้นตอนเป็น 11.69 กิโลวัตต์/เมตร ซึ่งมากกว่าการใช้จอบหมุนสับกลบใบอ้อยตั้งแต่ครั้งแรกเพียงครั้งเดียว ซึ่งใช้กำลังเพียง 8.92 กิโลวัตต์/เมตร แต่อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องสับใบอ้อยคงต้องพิจารณาถึงพื้นที่ที่มีความหนาของใบอ้อย ซึ่งบางครั้งมากจนการใช้เครื่องสับกลบแต่เพียงอย่างเดียวทำไม่ได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องสับใบอ้อยทำงานก่อน หรือใช้เป็นทางเลือกให้เกษตรกรที่ต้องการทิ้งใบคลุมแปลงไว้เพื่อรักษาความชื้นภายในดินไว้แต่ต้องการให้ใบอ้อยที่ทิ้งไว้มีขนาดสั้นเพื่อให้สามารถใช้เครื่องหยอดปุ๋ยได้โดยไม่ติดขัดกับตัวเปิดร่องปุ๋ย
Download: วิจัยและพัฒนาเครื่องสับใบอ้อยสำหรับแทรกเตอร์ต่ำกว่า 80 แรงม้า