By นิธิ ด้วงผึ้ง และ สมชาย ชวนอุดม
Year 2013
The 14th TSAE National Conference and the 6th TSAE International Conference : TSAE 2013. p.361-368
Abstract
ในปัจจุบันเครื่องเกี่ยวนวดข้าวกำลังมีบทบาทสำคัญและใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เพราะการใช้งานเครื่องเกี่ยวนวดข้าวมีโอกาสช่วยลดความสูญเสียจากการเก็บเกี่ยว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายรวมไปถึงแรงงานที่ใช้ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ความสูญเสียที่เกิดการเก็บเกี่ยวส่วนใหญ่นั้นเป็นความสูญเสียจากชุดนวด ส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับมุมครีบวงเดือน ที่ผ่านมาได้มีรูปแบบการปรับมุมครีบวงเดือนที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่การศึกษาหารูปแบบมุมครีบวงเดือนที่เหมาะสมยังค่อนข้างน้อย การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของรูปแบบมุมครีบวงเดือนที่มีต่อสมรรถนะในการนวดของชุดนวดข้าวแบบไหลตามแกน โดยการทดสอบกับชุดทดสอบการนวดของศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีความชื้นเมล็ดและฟางเฉลี่ยเท่ากับ 28.3 และ 51.8 เปอร์เซ็นต์ฐานเปียก ตามลำดับ อัตราส่วนเมล็ดต่อฟางโดยน้ำหนักสดเฉลี่ยเท่ากับ 0.61 ความยาวฟางเฉลี่ยเท่ากับ 52 เซนติเมตร การศึกษาผลของรูปแบบมุมครีบวงเดือนที่มีผลต่อสมรรถนะในการนวดของชุดนวดข้าวแบบไหลตามแกน ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบมุมครีบวงเดือนที่ทำการศึกษามีผลต่อปริมาณเมล็ดแตกหักไม่แตกต่างกันในทางสถิติ แต่มีผลต่อความสูญเสียจากชุดนวดและกำลังงานที่ใช้ในการนวดอย่างมีนัยสำคัญในทางสถิติ รูปแบบมุมครีบวงเดือนของชุดนวดข้าวแบบไหลตามแกนของเครื่องเกี่ยวนวดข้าว ควรใช้รูปแบบมุมครีบวงเดือนที่มีมุมครีบวงเดือนเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอคือมุม 69, 71, 73, 75 และ 77 องศาจากแนวเพลาลูกนวด ตามลำดับ เพราะทำให้มีความสูญเสียจากชุดนวดอยู่ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ และกำลังงานที่ใช้ในการนวดอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงมากนัก เมื่อใช้ความเร็วลูกนวดเท่ากับ 18 เมตรต่อวินาที และอัตราการป้อนเท่ากับ 16 ตันต่อชั่วโมง และทดสอบกับข้าวพันธุ์ชัยนาท 1
Download: ผลของรูปแบบมุมครีบวงเดือนที่มีต่อสมรรถนะในการนวดของชุดนวดข้าวแบบไหลตามแกน