A study of bowing on cotton woven pleated fabric
โดย ศิริวรรณ ดวงหิรัญ
ปี 2555
บทคัดย่อ
การโค้งบนผ้าฝ้ายทอจีบ คือเส้นด้ายยืนหรือเส้นด้ายพุ่งในผืนผ้าเป็นเส้นโค้ง ซึ่งโดยปกติเส้นด้ายทั้งสองชุดตั้งฉากกัน ดังนั้นถ้านำผ้าดังกล่าวผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มจะทำให้ไม่สามารถวางแบบตัดได้จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยได้ทำการศึกษาการโค้งบนผ้าฝ้ายทอจีบซี่งมีเส้นด้ายพุ่งโค้งโครงสร้างผ้าประกอบด้วย เส้นด้ายยืน 90 เส้น/นิ้ว เส้นด้ายพุ่งสำหรับพื้น 92 เส้น/นิ้ว และเส้นด้ายพุ่งสำหรับจีบ 120 เส้น/นิ้ว เส้นด้ายยืนและพุ่งเป็นเส้นด้ายฝ้ายชนิดคอมแพค เบอร์ 40 Ne ผ้าโครงสร้างนี้ถูกวิเคราะห์และทดสอบทางกายภาพ ได้แก่ การหาเบอร์เส้นด้ายก่อนและหลังตกแต่งสำเร็จ การงอตัวของเส้นด้ายในผืนผ้า การต้านทานแรงดึงและการยืดตัว การต้านทานแรงฉีกขาด การเปลี่ยนแปลงขนาดหลังการซักและการโค้งของเส้นด้ายพุ่ง
ผลการวิเคราะห์และทดสอบผ้าพบว่าเบอร์เส้นด้ายก่อนการตกแต่งสำเร็จต่ำกว่าเบอร์เส้นด้ายหลังการตกแต่งสำเร็จ ทั้งนี้เนื่องจากก่อนการตกแต่งสำเร็จเส้นด้ายยืนมีการลงแป้ง การงอตัวของเส้นด้ายยืนมากกว่าเส้นด้ายพุ่งและเกิดขึ้นบริเวณที่เป็นจีบมากกว่าบริเวณที่เป็นพื้น เนื่องจากในการทอผ้าเส้นด้ายยืนสำหรับทำจีบมีความตึงมากกว่าเส้นด้ายยืนสำหรับทำพื้น การต้านทานแรงดึงและการยืดตัวก่อนขาดของผ้าพบว่าค่าดังกล่าวในแนวเส้นด้ายพุ่งสูงกว่าแนวเส้นด้ายยืน การต้านทานแรงฉีกขาดของผ้าพบว่าแนวเส้นด้ายยืนสูงกว่าเส้นด้ายพุ่ง หลังจากการซัก การหดตัวตามความยาวผ้ามากกว่าการหดตัวตามความกว้างและบริเวณริมผ้ามีการหดตัวมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ทำให้เส้นด้ายพุ่งบริเวณตรงกลางผ้าโค้งเพิ่มขึ้น สรุปได้ว่าการโค้งของเส้นด้ายพุ่งเกิดขึ้นหลังจากผ้าผ่านกระบวนการเปียกน้ำ การโค้งของเส้นด้ายดังกล่าวแก้ไขโดยการใส่สารพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ในขั้นตอนสุดท้ายการตกแต่งสำเร็จ เพื่อทำให้จีบหรือเส้นด้ายพุ่งมีแนวที่ตั้งฉากกับเส้นด้ายยืน