The Production of Fashion Photography (Victorian Style)
จัดทำโดย สมฤทัย ยิ้มลมัย และ กิติยา มัจฉาเดชยุนันท์
ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ (Abstract)
ปริญญานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ผลิตภาพถ่ายแฟชั่นเสื้อผ้ายุควิคตอเรีย และวิเคราะห์รูปแบบการจัดแสง โดยแบ่งออกเป็น 5 ชุด การถ่ายภาพได้ทำการผลิตภายในสตูดิโอทั้งหมด โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพในสตูดิโอในเรื่องของการจัดวางองค์ประกอบ เทคนิคการจัดแสง ภายหลังขั้นตอนการตกแต่งภาพแล้วจึงนำภาพถ่ายไปประเมินโดยช่างภาพจำนวน 5 ท่าน
ผลของการประเมินในการผลิตภาพถ่ายแฟชั่นเสื้อผ้ายุควิคตอเรีย ที่ได้ผลิตขึ้นมาแสดงให้เห็นถึงความสวยงามของเสื้อผ้ายุควิคตอเรีย และรายละเอียดต่าง ๆ ของชุด การจัดวางตัวแบบ การกำหนดมุมกล้อง การจัดแสง ทำให้ภาพที่ถ่ายสามารถแสดงถึงความโดดเด่นของเสื้อผ้ายุควิคตอเรีย ภาพดูมีมิติ ความลึก ความกว้าง ดูมีความน่าสนใจ ผลจากการจัดแสงในรูปแบบต่าง ๆ โดยผลของการประเมินภาพถ่ายแฟชั่นเสื้อผ้ายุควิคตอเรียอยู่ในระดับมาก
วัตถุประสงค์
- เพื่อผลิตภาพถ่ายแฟชั่นเสื้อผ้ายุควิคตอเรีย
- เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการจัดแสง
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
สามารถผลิตภาพถ่ายแฟชั่นเสื้อผ้ายุควิคตอเรียให้มีความเหมาะสม
ขอบเขตการศึกษา
การศึกษาเรื่อง การผลิตภาพถ่ายแฟชั่นเสื้อผ้ายุควิคตอเรีย โดยใช้กล้อง DSLR ยี่ห้อ Canon EOS 6D เลนส์ Canon EF 24-70 mm ถ่ายทำที่สตูดิโอคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และนำภาพมาผ่านกระบวนการตกแต่งด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop CS6 และ Adobe Lightroom จากนั้นนำภาพที่แต่งเสร็จไปอัดขยายขนาด 8×12 นิ้ว จำนวน 5 รูป นำไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพแฟชั่น จำนวน 5 ท่าน ประเมินคุณภาพของภาพถ่าย จากนั้น อัดขยายขนาด 5×7 นิ้ว จำนวน 5 รูป เพื่อประกอบเล่มปริญญานิพนธ์
สรุปผลการศึกษา
จากการศึกษา ลงมือปฏิบัติและวิเคราะห์การจัดแสงผลการศึกษาพบว่า ในการผลิตภาพถ่ายแฟชั่นเสื้อผ้ายุควิคตอเรีย ผู้ศึกษาสามารถผลิตภาพถ่ายที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ระดับ มาก โดยสามารถผลิตภาพถ่ายที่มีความสวยงาม การเลือกสีฉากและชุดของนางแบบมีความเหมาะสมดี ท่าทางของแบบสามารถสื่ออารมณ์ของภาพได้ดี ชุดที่แบบสวมใส่มีความถูกต้องเหมาะสมใน ยุควิคตอเรีย ภาพถ่ายมีความน่าสนใจ องค์ประกอบของภาพเหมาะสม ภาพถ่ายมีสีสันเหมาะสมและสวยงามดี
อภิปรายผล
ปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการถ่ายภาพก็คือแสงสว่าง การจัดแสงสำหรับ การถ่ายภาพในสตูดิโอ เป็นการเลียนแบบแสงธรรมชาติ โดยจะกำหนดให้ไฟถ่ายภาพดวงหนึ่ง ทำหน้าที่แสงจากพระอาทิตย์ ส่วนไฟถ่ายภาพดวงอื่น ๆ จะเป็นแสงที่คอยช่วยเสริม แสงที่ส่องมาจากทิศทางต่าง ๆ กันก่อให้เกิดมิติของภาพ คือภาพที่ดูแล้วมีความกว้าง ความยาว ความสูงและความลึก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงรูปทรงรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ ของวัตถุที่เราจะถ่ายภาพนั้น
ในการศึกษาครั้งนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับภาพถ่ายแฟชั่นคือเรื่องของแสงและโทนสี จากผลการศึกษาพบว่าการจัดไฟเฉียงเข้าหาตัวแบบ 45 องศา เหมือนกันทั้งสองดวง โดยกำลังไฟที่แตกต่างกัน แสงสว่างเท่ากัน แต่ความเข้มของแสงจะไม่เท่ากัน จึงทำให้ภาพที่ได้ดูแบนไม่มีมิติ ไม่มีความน่าสนใจ เนื่องจากผลของการจัดไฟ อย่างเช่นภาพชุดที่ 5 ถึงแม้นางแบบจะโพสท่าและสวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงามถ้าแสงในภาพไม่มีมิติ ภาพก็จะดูไม่มีความน่าสนใจดูแล้วรู้สึกเฉย ๆ แต่ถ้าจัดแสงเฉียงหน้าเป็นไฟหลักและใช้ไฟวางระหว่างวัตถุกับฉากหลัง เพื่อแยกวัตถุกับฉากหลังออกจากกันจะทำให้เห็นรูปทรงของวัตถุและเพิ่มมิติความลึกของภาพได้มากกว่า อย่างเช่นภาพชุดที่ 1 ถึงแม้ว่าสีชุดที่นางแบบสวมใส่จะดูเรียบ ๆ แต่การจัดแสงก็มีผลทำให้เสื้อผ้าดูโดดเด่น น่าสนใจมากขึ้น ส่วนในเรื่องของโทนสีเสื้อผ้าและฉากหลังก็เช่นเดียวกัน ควรมีการคุมโทนมาตั้งแต่ก่อนถ่าย เพราะเมื่อถึงขั้นตอนการตกแต่งภาพ ก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นสำหรับการคุมโทนสีให้ย้อนยุคหรือให้ทันสมัย เป็นต้น
อีกทั้งการถ่ายภาพแฟชั่นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทีมงานที่สามารถประสานงานกันได้อย่างลงตัวทั้งช่างภาพ เมคอัพ (Make Up) คอสตูม (Costume) และนางแบบ ดังที่ นายวิรัช จัตตุวัฒนา (2012) ได้กล่าวไว้ว่า การถ่ายภาพแฟชั่นคือการทำงานกันเป็นทีม ทั้งช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ สไตลิสต์ (StyleList) นางแบบ คอสตูม (Costume) เมคอัพอาร์ตติสต์ (Make Up) และอีกหลายๆ ส่วน หลายๆ คน เพื่อให้ได้งานออกมาตรงตามคอนเซ็ปท์ (Concept)
ข้อเสนอแนะ
- ต้องระวังเรื่องชายกระโปรงไม่ค่อยเรียบร้อย
- ต้องระวังเรื่องผิวหน้าของนางแบบ
- ชุดและพร็อบดูหรูหราเหมาะสม แต่ภาพไม่ค่อยโดนเด่น
- ต้องระวังการจัดแสงเพื่อไม่ให้รายละเอียดในส่วนต่างๆ ของภาพหาย
- การตกแต่งภาพต้องระวังการปรับสีผิวอย่าให้ผิดจากสีผิวจริงของนางแบบ
- การจัดแสงในการถ่ายภาพให้ระวังเรื่องการสะท้อนแสงของฉากหรือพื้นหลังที่อาจจะทำให้ สีผิวนางแบบผิดจากสีผิวจริง