The study of visual effect to show the actor suddenly fall down from building scene by using Adobe After Effect programs

จัดทำโดย ปรีดาวรรณ ใจแก้ว, เพ็ญพัชร คณะธรรม และ พรพิมล วรกิจธำรงค์ชัย

สาขา เทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์

ปีการศึกษา 2558


บทคัดย่อ (Abstract)

ปริญญานิพนธ์เล่มนี้ศึกษาการทำเทคนิคพิเศษทางภาพในภาพยนตร์เขย่าขวัญ เพื่อใช้แทนสถานการณ์คนตกตึก ด้วยโปรแกรม Adobe After Effect CS6 วิธีการศึกษาเป็น การสร้างภาพยนตร์สั้นด้วยกล้อง Canon DSLR 5D Mark III และนำมาตัดต่อภาพและเสียงด้วยโปรแกรม Adobe Premiere Pro CS6 แล้วเลือกช่วงการทำเทคนิคการซ้อนภาพมา Composite ด้วยโปรแกรม Adobe After Effect CS6 บนระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows 8 โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ CPU Intel Core I5 1.7 GHz Hard drive 1 TB Ram 4GB Video Display Intel(R) HD Graphics Family และบันทึกในรูปแบบ DVD จากนั้นทำการจัดฉายให้กลุ่มตัวอย่างจำนวนผู้ชม 43 คน โดยมีผู้ที่มีความรู้ทางภาพยนตร์จำนวน 20 คน ผู้ไม่มีความรู้ทางภาพยนตร์จำนวน 20 คน และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ทางด้านภาพยนตร์และการทำเทคนิคทางภาพ จำนวน 3 คน แล้วทำการประเมินด้วยแบบสอบถามความคิดเห็น โดยคิดค่าสถิติเป็นร้อยละ

ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาการทำเทคนิคพิเศษทางภาพเพื่อใช้แทนสถานการณ์คนตกตึก ด้วยโปรแกรม Adobe After Effect CS6 ในภาพยนตร์แนวเขย่าขวัญ โดยการผลิตภาพยนตร์สั้น เรื่อง IMEGINE ทำให้สร้างความตื่นเต้นในภาพยนตร์ได้มากขึ้น ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ชมที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้


วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษากระบวนการใช้เทคนิคพิเศษการซ้อนภาพของฉากคนตกจากที่สูงในภาพยนตร์เขย่าขวัญ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษา

ใช้เทคนิคซ้อนภาพเพื่อสร้างสรรค์ภายในฉากให้มีความตื่นเต้นและสมจริงมากยิ่งขึ้น

ขอบเขตการศึกษา

การศึกษาการใช้เทคนิคพิเศษทางภาพในภาพยนตร์เขย่าขวัญ เพื่อใช้แทนสถานการณ์คนตกตึก ด้วยโปรแกรม Adobe After Effect CS6 ผู้ศึกษาศึกษาโดยการใช้เทคนิคการซ้อนภาพเพื่อสร้างสรรค์ภาพในฉากที่ไม่สามารถถ่ายทำได้จริง โดยการผลิตภาพยนตร์สั้นความยาว 3 – 5 นาทีด้วยกล้อง Canon 5D Mark III และนำมาตัดต่อด้วยโปรแกรม Adobe Premiere Pro CS6 แล้วเลือกช่วงการทำเทคนิค การซ้อนภาพมา Composite ด้วยโปรแกรม Adobe After Effect CS6 บนระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows 8 โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ CPU Intel Core I5 1.7 GHz Hard Drive 1 TB Ram 4GB Video Display Intel(R) HD Graphics Family และบันทึกในรูปแบบ DVD จากนั้นทำการจัดฉายให้กลุ่มผู้ชมจำนวน 43 คน โดยให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ชมที่มีความรู้ทางด้านภาพยนตร์จำนวน 20 คน และผู้ชมที่ไม่มีความรู้ทางด้านภาพยนตร์จำนวน 20 คน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านภาพยนตร์และการทำเทคนิคพิเศษทางภาพจำนวน 3 คน ดูฉากที่มีสถานการณ์คนตกตึก ที่ใช้วิธีการทำเทคนิคพิเศษทางภาพด้วยโปรแกรม Adobe After Effect CS6 หลังจากนั้นให้ผู้ชมตอบแบบสอบถามแล้วทำการประเมินความสมจริงด้วยแบบสอบถามความคิดเห็นโดยคิดค่าสถิติเป็นร้อยละ


บทสรุปและข้อเสนอแนะ

จากการที่ให้ผู้ชมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 43 คน โดยแบ่งเป็นผู้มีความรู้ทางภาพยนตร์ 20 คน ผู้ไม่มีความรู้ทางภาพยนตร์ 20 คน และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการใช้โปรแกรม Adobe After Effect CS6 และมีความรู้ทางด้านภาพยนตร์ 3 คน พบว่า ผู้ชมส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า การทำเทคนิคพิเศษการซ้อนภาพ สามารถสร้างความตื่นเต้นให้กับภาพยนตร์ได้มาก อีกทั้งยังมีความเสมือนจริงและดูกลมกลืนอยู่ในระดับปานกลาง และในการดำเนินเรื่องที่นำการตัดสลับระหว่างฉากยังสร้างความตื่นเต้นได้มากอีกด้วย

ดังนั้น การทำเทคนิคพิเศษทางภาพในภาพยนตร์เขย่าขวัญ เพื่อใช้แทนสถานการณ์ คนตกตึก ด้วยโปรแกรม Adobe After Effect CS6 ทำให้ภาพยนตร์มีความน่าสนใจมากขึ้นและมีความเหมาะสมกับการนำไปใช้ในภาพยนตร์ที่ไม่สามารถถ่ายทำในสถานที่จริงได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน

  1. เนื่องจากในฉากคนตกตึกที่ต้องนำภาพมาแมทต์กัน ระหว่างภาพที่ถ่ายกับฉากที่เป็น Green Screen และฉากของขอบดาดฟ้าถ่ายมาด้วยองศาของภาพที่ไม่ตรงกัน ทำให้การนำมาแมทต์ทำได้ยาก จึงทำให้ออกมาดูไม่สมจริงอย่างที่ควร
  2. ในฉากที่ถ่ายกับ Green Screen ดึงผ้าได้ไม่ตึงจึงทำให้เกิดเงาและส่งผลมาถึงขั้นหลังการถ่ายทำ ทำให้ดึงสีพื้นหลังออกได้ไม่หมด เกิดเป็นเงาดำ ๆ บ้างก็เกิดการเปื้อนของสีพื้นหลังเข้ามาในตัวนักแสดง ทำให้ต้องทำงานกันหลายขั้นตอน
  3. การจัดแสงของสถานที่บนดาดฟ้ากับที่ Green Screen ไม่ตรงกัน ทำให้ตอนนำมาแมทต์ภาพดูโดด ไม่เสมือนจริง อีกทั้งมีมุมภาพที่น้อยเกินไป ทำให้ช่วงเวลาที่คนตกตึกดูมีมุมเดิมซ้ำ ๆ ไม่น่าสนใจ

ข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ

พิศรุทร คะเชนทร์ กล่าวว่า ควรย้อมสีของภาพยนตร์ให้เป็นอารมณ์ของหนังจะทำให้ผลงานออกมาเหมือนภาพยนตร์จริง ๆ การเปลี่ยน Scene ช่วงแรกยังดูขัด ๆ อยู่ แต่ Scene ตั้งแต่บนดาดฟ้าจนจบทำมาได้ดีครับ ช่วงคนตกตึกทำได้โอเค ชอบจังหวะตัดของหลาย ๆ Cut

นิพันธ์ จ้าวเจริญพร กล่าวว่า ด้าน VFX: ยังขาดการ Compose งานที่ดีและเสมือนจริง เป็นเพราะเรื่องของแสง สี และองค์รวมต่าง ๆ ที่ขาดการเติมแต่งเพื่อความเหมือนจริง จึงทำให้งานที่ออกมาดู “โดด” และขาดความน่าเชื่อของเนื้อหา อีกทั้งยังทำให้อารมณ์สะดุด เพราะแทนที่ผู้ชมจะอินและลุ้นไปกับภาพที่โชว์ให้เห็น แต่กลับทำให้อารมณ์ขาดตอนเพราะความไม่สมจริงของด้าน VFX ด้านการแสดงคงต้องพัฒนากันต่อ ๆ ไป เพราะเห็นได้ชัดว่า เป็นกลุ่มเพื่อน ๆ ที่รับบทแสดงกันเอง จึงทำให้การแสดงดูขัด ๆ และไม่ลื่นไหล (ไม่สมจริง) แต่ชอบพิเศษเรื่องการตัดต่อเล่าเรื่องได้ค่อนข้างดีและน่าสนใจ แต่เนื้อหาของเรื่องยังขาดความสมบูรณ์ในเรื่องการเขียนบท

พีรณัฐ กลองชิต กล่าวว่า ตรงฉากน้ำที่มีตัวตลกวิ่งไล่ไปสุดที่น้ำดูหลอกตามาก เพราะ Perspective มุมกล้องกับฉากหลังมันยังผิดอยู่ จังหวะวางเท้าก่อนกระโดดจุดนี้ถือว่า ทำได้ดี ถ้าจัดแสงแน่นกว่านี้ก็จะดูสมจริงขึ้น ส่วนตอนที่กระโดดลงมาที่มีมุมด้านหลังกับด้านข้าง 2 มุม ซึ่งเรื่องของการ Key จัดแสง และการผสมฉากหลังยังทำได้ไม่เนียน แต่ปล่อยเฟรมให้เห็นซ้ำ ๆ หลายครั้งจึงทำให้ดูแล้วหลอก ๆ ไม่สมจริง ควรเพิ่มมุม เช่น ถ่ายด้านหน้าแบบรองด้วยฉากหลัง Green Screen ใช้โบลเวอร์เป่าอัดไปที่ใบหน้าให้เกิดลักษณะเหมือนปะทะกับมวลของลมแรง ถ้ามีกล้องถ่าย Super Slow ก็จะชัดเจนขึ้น เมื่อเราได้มุมมามากพอก็จะสามารถนำมาตัดให้กระชับและตื่นเต้นได้มากกว่านี้ และฉากแอคชันไม่ควรฉายซ้ำไปซ้ำมาในมุมเดียวกัน นอกจากจะเป็นมุมที่องค์ประกอบทุกอย่าง Perfect จริง ๆ ส่วนแนวทางการเล่าเรื่องถ้าจะทำหนังแนวนี้ควรตัดต่อให้กระชับกว่านี้ หลาย ๆ Cut ยังดูไม่น่ากลัว


ผลงานนักศึกษา