TEXTURE PERCEPTION OF SCREEN PRINTING INK FOR BLIND PEOPLE 

นักวิจัย อุรวิศ  ตั้งกิจวิวัฒน์

ปีที่พิมพ์ 2558


บทคัดย่อ (Abstract)

ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ประกอบไปด้วยการรับรู้ทางการมองเห็น การรับรู้ทางการได้ยิน การรับรู้ทางการรับรส การรับรู้ทางการได้กลิ่น และการรับรู้ทางการสัมผัส ซึ่งการรับรู้ทางการมองเห็นเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุดในการดำเนินชีวิตประจำวันเมื่อเปรียบเทียบกับประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากเราสูญเสียการรับรู้ทางใดทางหนึ่งไป ประสาทสัมผัสการรับรู้ส่วนอื่นๆ ก็จะเพิ่มศักยภาพการรับรู้ขึ้นมาทดแทน เช่น ผู้พิการทางสายตาและผู้ที่บกพร่องทางสายตา สามารถตอบสนองต่อการรับรู้ทางการสัมผัสได้ดีกว่าบุคคลทั่วไป และการรับรู้ทางการสัมผัสนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของผู้พิการทางสายตา ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการประดิษฐ์วิธีการช่วยการรับรู้ของผู้พิการทางสายตา ตัวอย่างเช่น การใช้อักษรเบรลล์ในลักษณะนูนเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาหรือผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาสัมผัสเพื่อการสื่อสาร ผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านตัวอักษรนูนได้จากการสัมผัส แต่อย่างไรก็ตามอักษรเบรลล์มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถแสดงรูปภาพได้ เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการนำหมึกพิมพ์สกรีนมาพิมพ์ตัวอักษรนูนเพื่อพิมพ์อักษรเบรลล์ในจำนวนมากๆ หมึกพิมพ์สกรีนมีคุณสมบัติหนึ่งที่โดดเด่น คือ หมึกพิมพ์สกรีนแต่ละชนิดมีผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากเราสามารถที่จะนำจุดเด่นนี้มาพิมพ์ภาพ เพื่อให้กับผู้พิการทางสายตาสามารถจิตนาการภาพต่างๆ ผ่านการรับรู้ทางผิวสัมผัสจึงมีความเป็นไปได้ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาความรู้สึกผิวสัมผัสของหมึกพิมพ์สกรีนชนิดต่างๆ ที่ส่งผลต่อการรับรู้ จากหมึกพิมพ์สกรีน 5 ชนิด ประกอบด้วย หมึกพิมพ์สกรีนสีลอย หมึกพิมพ์สกรีนสียาง หมึกพิมพ์สกรีนสีจม หมึกพิมพ์สกรีนสีนูน และหมึกพิมพ์สกรีนฐานน้ำ และให้ผู้พิการทางสายตาจำนวน 100 คนและผู้ที่จำลองภาวะพิการทางสายตา 100 คนทำการทดสอบ และให้คะแนนความรู้สึกด้วยมาตรคะแนนความรู้สึก 4 คู่ ได้แก่ อ่อนนุ่ม-แข็ง ขรุขระ-เรียบ หนืด-ลื่น และคงสภาพ-หยุ่นตัว ผลการทดลองพบว่า ความรู้สึกผิวสัมผัสมีความสัมพันธ์กับหมึกพิมพ์สกรีน และสามารถนำหมึกพิมพ์สกรีนมาประยุกต์ใช้พิมพ์ภาพ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ดีขึ้นสำหรับผู้พิการทางสายตาและผู้ที่บกพร่องทางสายตา


วัตถุประสงค์การวิจัย

วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นที่การศึกษาเพื่อศึกษาถึงความรู้สึกทางผิวสัมผัสของหมึกพิมพ์สกรีนของผู้พิการทางสายตาและผู้จำลองสภาวะพิการทางสายตา

สมมติฐานงานวิจัย

ในงานวิจัยเรื่องนี้ ผู้วิจัยตั้งสมมติฐานผู้พิการทางสายตา สามารถแยกแยะความแตกต่างของผิวสัมผัสหมึกพิมพ์สกรีน และสามารถบอกความรู้สึกผิวสัมผัสของหมึกพิมพ์สกรีนได้

ขอบเขตงานวิจัย

การวิจัยเรื่องการรับรู้ผิวสัมผัสของหมึกพิมพ์สกรีนของผู้พิการทางสายตา ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตงานวิจัย โดยผลิตตัวอย่างงานพิมพ์สกรีนด้วยหมึกพิมพ์สกรีน 5 ชนิดซึ่งนิยมใช้พิมพ์สกรีนในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ หมึกพิมพ์สกรีนสีลอย หมึกพิมพ์สกรีนสียาง หมึกพิมพ์สกรีนสีจม หมึกพิมพ์สกรีนสีนูน หมึกพิมพ์สกรีนฐานน้ำ โดยทำการพิมพ์ลงบนกระดาษเคลือบผิวและกระดาษไม่เคลือบผิว จากนั้นนำไปทดสอบความรู้สึกผิวสัมผัส โดยให้ผู้พิการทางสายตาและผู้จำลองสภาวะพิการทางสายตาสัมผัสหมึกพิมพ์และบอกความรู้สึกผิวสัมผัส ด้วยวิธีการให้คะแนน (rating scale method) จากมาตรวัดความรู้สึก 4 ด้าน ได้แก่ แข็ง-อ่อนนุ่ม ลื่น-หนึด เรียบ-ขรุขระ และหยุ่นตัว-คงสภาพ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. สามารถบ่งชี้ความรู้สึกทางผิวสัมผัสของหมึกพิมพ์สกรีนชนิดต่าง ๆ ได้
  2. ได้แนวทางการเลือกใช้หมึกพิมพ์สกรีนที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกทางผิวสัมผัสแก่ผู้พิการทางการมองเห็นได้

สรุปผลการวิจัย

จากการศึกษาพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างหมึกพิมพ์สกรีนกับการรับรู้ทางผิวสัมผัสกระดาษเคลือบผิว ความสัมพันธ์ระหว่างหมึกพิมพ์สกรีนกับการรับรู้ทางผิวสัมผัส ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ แข็ง-อ่อนนุ่ม เรียบ-ขรุขระ ลื่น-หนืด และหยุ่นตัว-คงสภาพ โดยใช้สัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าหมึกพิมพ์แต่ละชนิดเหมาะกับผิวสัมผัสลักษณะใด แทนด้วยสัญลักษณ์ Ο มากที่สุด Δปานกลาง และ Χน้อย ผลการศึกษาแสดงดังตารางที่ 5.1

จากตารางที่ 5.1 สามารถสรุปผลการศึกษาโดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ หมึกพิมพ์สกรีนสีลอยให้ผิวสัมผัสที่มีความรู้สึกแข็ง เรียบ ลื่น และ คงสภาพ หมึกพิมพ์สกรีนสียางให้ผิวสัมผัสที่มีความรู้สึกแข็ง ขรุขระ หนืดและคงสภาพ หมึกพิมพ์สกรีนสีจมให้ผิวสัมผัสที่มีความรู้สึกคงสภาพ แข็ง หนืด และขรุขระ หมึกพิมพ์สกรีนสีนูน ให้ผิวสัมผัสปานกลางที่มีความรู้สึกแข็ง ขรุขระ หนืด และคงสภาพ หมึกพิมพ์สกรีนฐานน้ำ ให้ผิวสัมผัสที่มีความรู้สึกคงสภาพ หนืด แข็ง และขรุขระ

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างหมึกพิมพ์สกรีนกับการรับรู้ทางผิวสัมผัสกระดาษไม่เคลือบผิว พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหมึกพิมพ์สกรีนกับการรับรู้ทางผิวสัมผัส ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ แข็ง-อ่อนนุ่ม เรียบ-ขรุขระ ลื่น-หนืดและหยุ่นตัว-คงสภาพ โดยใช้สัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าหมึกพิมพ์แต่ละชนิดเหมาะกับผิวสัมผัสลักษณะใด แทนด้วยสัญลักษณ์ Ο มากที่สุด Δปานกลาง แล Χ น้อย ผลการศึกษาแสดงดังตารางที่ 5.2

จากตารางที่ 5.2 สามารถสรุปผลการศึกษาโดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ หมึกพิมพ์สกรีนสีลอยให้ผิวสัมผัสที่มีความรู้สึกแข็ง ขรุขระ หนืดและคงสภาพ หมึกพิมพ์สกรีนสียางให้ผิวสัมผัสที่มีความรู้สึกแข็ง หนืด คงสภาพและขรุขระ หมึกพิมพ์สกรีนสีจมให้ผิวสัมผัสที่มีความรู้สึกขรุขระ คงสภาพ แข็ง และหนืด หมึกพิมพ์สกรีนสีนูน ให้ผิวสัมผัสที่มีความรู้สึกขรุขระ หนืด คงสภาพ และแข็ง หมึกพิมพ์สกรีนฐานน้ำ ให้ผิวสัมผัสที่มีความรู้สึกขรุขระ หนืด คงสภาพ และแข็ง

จากการศึกษาสามารถกำหนดแนวทางในการเลือกใช้หมึกพิมพ์สกรีนในการบูรณาการสร้างสื่อให้กับผู้พิการทางสายตา ความรู้สึกของผู้พิการทางสายตากับความสัมพันธ์ของมาตรวัด ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ อ่อนนุ่ม-แข็งกับขรุขระ-เรียบ อ่อนนุ่ม-แข็งกับหนืด-ลื่น อ่อนนุ่ม-แข็งกับคงสภาพ-หยุ่นตัว
ขรุขระ-เรียบกับหนืด-ลื่น ขรุขระ-เรียบกับคงสภาพ-หยุ่นตัว และ หนืด-ลื่นกับคงสภาพ-หยุ่นตัว
ผลการศึกษาจากกระดาษเคลือบผิวดังแสดงในตารางที่ 5.3 ผลการศึกษาจากกระดาษไม่เคลือบผิวดังแสดงในตารางที่ 5.4

จากตารางที่ 5.3 สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้ หมึกพิมพ์สกรีนผ้าสียาง หมึกพิมพ์สกรีนผ้าสีจม หมึกพิมพ์สกรีนผ้าสีนูน หมึกพิมพ์สกรีนผ้าฐานน้ำ จะให้ความรู้สึกผิวสัมผัส แข็ง-ขรุขระ แข็ง-คงสภาพ ขรุขระ-หนืด ขรุขระ-คงสภาพและ หนืด-คงสภาพ ส่วนหมึกสกรีนผ้าสีลอย จะให้ความรู้สึกผิวสัมผัส แข็ง-เรียบ เรียบ-ลื่น เรียบ-คงสภาพ และลื่น-คงสภาพ

จากตารางที่ 5.4 สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้ หมึกพิมพ์สกรีนผ้าสียาง หมึกพิมพ์สกรีนผ้าสีจม หมึกพิมพ์สกรีนผ้าสีนูน หมึกพิมพ์สกรีนผ้าฐานน้ำ จะให้ความรู้สึกผิวสัมผัส แข็ง-ขรุขระ แข็ง-หนืด แข็ง-คงสภาพ ขรุขระ-หนืด ขรุขระ-คงสภาพและ หนืด-คงสภาพ