ผู้วิจัย ประภาภร ดลกิจ
ปีที่พิมพ์ 2558
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อพัฒนาชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนสำหรับนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
เพื่อประเมินผลการใช้ชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สำหรับนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
นักศึกษาได้แหล่งเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือสำหรับใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ขอบเขตของการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยนำรูปแบบชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์มาใช้ตั้งต้นในการพัฒนาชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน จำนวน 1 เว็บไซต์ โดยให้กลุ่มตัวอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนการเรียนรู้เสมือนโดยตัดสินใจเลือกองค์ประกอบในรูปแบบชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์มาใช้ในการสร้างชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยี สื่อสารมวลชน เมื่อสร้างชุมชนการเรียนรู้เสมือนเสร็จสิ้นแล้ว ทำการทดลองชุมชนเสมือนเป็นเวลา 1 เดือน และประเมินผลการใช้ชุมชนเสมือนจากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จำนวน 60 คน
สรุปผลการวิจัย
ส่วนที่ 1 การพัฒนาชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ในการพัฒนาชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นออกแบบชุมชนการเรียนรู้เสมือน ขั้นสร้างชุมชนการเรียนรู้เสมือน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. ขั้นออกแบบชุมชนการเรียนรู้เสมือน
ในการออกแบบชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ได้กำหนดให้กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ออกแบบชุมชนการเรียนรู้เสมือนเอง โดยได้นำรูปแบบชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์มาใช้เป็นจุดตั้งต้น และให้กลุ่มตัวอย่างตัดสินใจเลือกองค์ประกอบที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนจากรูปแบบชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ซึ่งผลการศึกษาสรุปได้ว่า รูปแบบชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ที่มีองค์ประกอบใหญ่ 5 องค์ประกอบ และมีองค์ประกอบย่อยทั้งหมด 21 องค์ประกอบนั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยกับการนำองค์ประกอบต่างๆของรูปแบบชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ มาใช้พัฒนาชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน 20 องค์ประกอบย่อย โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าองค์ประกอบย่อย 20 องค์ประกอบ มีความเหมาะสมมากที่สุดที่จะนำมาใช้พัฒนาชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ดังนี้
องค์ประกอบที่ 1 เป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน
1.กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ของชุมชนที่ครอบคลุมเป้าหมายการเรียนรู้ของสมาชิกใน
ชุมชน
2.ทุกคนแบบกว้าง ๆ
3.กำหนดวัตถุประสงค์ของชุมชนโดยสมาชิกชุมชน
4.แสดงวัตถุประสงค์ของชุมชนให้เห็นอย่างชัดเจน
5.ออกแบบเครื่องมือและกิจกรรมบนเว็บที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
องค์ประกอบที่ 2 ความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน
1.สมาชิกมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนการเรียนรู้เสมือน
2.สมาชิกสามารถแสดงตัวตนในชุมชนการเรียนรู้เสมือน
3.สมาชิกมีพื้นที่ของตนเองในชุมชนการเรียนรู้เสมือน
4.สมาชิกสามารถกลั่นกรองเนื้อหาในชุมชนการเรียนรู้เสมือน
องค์ประกอบที่ 3 ทักษะการเรียนรู้
1.อำนวยความสะดวกให้สมาชิกมีทักษะการเชื่อมโยงเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ด้วยตนเอง
2.อำนวยความสะดวกให้สมาชิกมีทักษะการประเมินผลงานด้วยตนเอง
องค์ประกอบที่ 4 สารสนเทศ
1.สารสนเทศในชุมชนการเรียนรู้เสมือนเป็นเนื้อหาเฉพาะทาง
2.สารสนเทศในชุมชนการเรียนรู้เสมือนมีที่มาจากเอกสารและสื่อต่างๆ
3.สารสนเทศในชุมชนการเรียนรู้เสมือนมีที่มาจากประสบการณ์ของสมาชิกในชุมชน
4.สารสนเทศในชุมชนการเรียนรู้เสมือนสามารถสืบค้นแหล่งที่มาได้
5.สารสนเทศในชุมชนการเรียนรู้เสมือนสามารถแสดงระดับความนิยม
6.สารสนเทศในชุมชนการเรียนรู้เสมือนสามารถแสดงความถี่ในการใช้งาน
7.สารสนเทศในชุมชนการเรียนรู้เสมือนสามารถแสดงระดับความเป็นปัจจุบัน
องค์ประกอบที่ 5 การอำนวยความสะดวก
1.มีผู้ดูแลชุมชนการเรียนรู้เสมือนเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎกติกาการใช้งาน
2.มีผู้ดูแลชุมชนการเรียนรู้เสมือนเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองสารสนเทศเก็บในคลังความรู้
3.มีผู้ดูแลชุมชนการเรียนรู้เสมือนเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิก
2. ขั้นสร้างชุมชนการเรียนรู้เสมือน
ในการสร้างชุมชนการเรียนรู้เสมือน ได้ยึดองค์ประกอบย่อยที่ได้จากขั้นตอนแรกเป็น
กรอบในการสร้างชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน โดยกำหนดให้เว็บชุมชนการเรียนรู้เสมือนมีเครื่องมือและกิจกรรม ดังนี้
1. การลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกของชุมชน ต้องระบุประวัติของผู้ใช้งาน
2. ในหน้าแรกของเว็บ แสดงวัตถุประสงค์ของชุมชน
3. ในทุก ๆ เนื้อหา มีเครื่องมือที่ใช้สำหรับ Upload และ Download ข้อมูล
4. ในทุก ๆ เนื้อหา มีพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นโดยพิมพ์เป็นข้อความ
5. สมาชิกสามารถสื่อสารกันได้โดยใช้การสื่อสารด้วยอักษรเป็นหลัก
6. ที่เมนูบาร์ซึ่งปรากฏทุกหน้าเว็บต้องมี Icon หรือปุ่มเพื่อการ Upload และ Download ข้อมูล
7. สมาชิกสามารถ Upload ข้อมูลเพื่อการประชาสัมพันธ์ได้
8. มี interactive คำสำคัญในบทความเพื่อลิงค์ไปสู่บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
9. มี “ค้นหาคำ” ที่เมนูบาร์ ซึ่งจะปรากฏทุกหน้าเว็บ เพื่อการค้นหาข้อมูล
10. มีเมนู “ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง” โดยที่สมาชิกสามารถเป็นผู้สร้างลิงค์ได้
11. มีบล็อกที่แสดงผลงานของสมาชิกซึ่งสมาชิกคนอื่นๆ สามารถพิมพ์ข้อความเพื่อแสดงความคิดเห็นได้
12. มีตัวเลือกในการ upload ข้อมูลที่เป็นตัวอักษร ภาพ ภาพเคลื่อนไหวและเสียง
13. มีหน้าเว็บของสมาชิกแต่ละคน
14. มีการแสดงชื่อสมาชิกที่กำ ังออนไลน์
15. มีสัญลักษณ์ทางอารมณ์ สีและลวดลาย Background ให้สมาชิกเลือกใช้งาน
16. ข้อมูลซึ่งเป็นเนื้อหาในประเด็นต่างๆ ต้องระบุแหล่งที่มา
17. แสดงระดับความยากของข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลระดับสูง ที่ท้ายชื่อบทความทุกบทความ
18. มีพื้นที่ให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นต่อบทความที่ด้านล่างต่อจากบทความทุกบทความ
19. ที่หน้าแรกของเว็บไซต์ มี “เรื่องใหม่” ซึ่งต้องระบุวันเวลา และชื่อผู้ up load
20. มีเมนูคลังความรู้
21. ในการ Upload ข้อมูล ต้องระบุ “คำสำคัญ” เพื่อการจัดหมวดหมู่เนื้อหาตามคำสำคัญ และการค้นหาข้อมูลโดยใช้คำสำคัญ
22. ที่หน้าแรกของเว็บ ที่พื้นที่สำหรับแสดง “เรื่องใหม่”
23. ที่เมนูบาร์ ซึ่งปรากฏทุกหน้าเว็บ มี “ค้นหาคำ”
24. แสดงจำนวนการ down load บทความ ที่ท้ายชื่อบทความทุกบทความ
25. แสดงความนิยมในการเปิดเข้าอ่านบทความ (เป็นจำนวนดาว) ท้ายบทความทุกบทความ
ส่วนที่ 2 การประเมินผลการใช้ชุมชนการเรียนรู้เสมือนด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน.
ผลการศึกษาสรุปได้ว่า หลังจากให้กลุ่มตัวอย่างทดลองใช้ชุมชนการเรียนรู้เสมือนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เป็นเวลา 1 เดือน ได้ดำเนินการประเมินผลการใช้ชุมชนการเรียนรู้เสมือนนั้น กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นสอดคล้องกันสูงว่ามีความพึงพอใจมากในการใช้ประโยชน์ชุมชนการเรียนรู้เสมือน โดยใช้ประโยชน์จากการนำความคิดเห็นต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชนไปใช้ในการเรียนในหลักสูตรเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การนำความรู้จากบทความในเมนูลิงค์ที่เกี่ยวข้องมาใช้ประโยชน์ในการเรียนในหลักสูตร การเพิ่มเพื่อนในวิชาชีพเดียวกัน การนำความรู้ที่ได้จากบทความในคลังความรู้มาใช้ประโยชน์ในการเรียนในหลักสูตร การนำข่าวประชาสัมพันธ์ในชุมชนการเรียนรู้เสมือนมาใช้ประโยชน์ต่อการเรียนในหลักสูตร และใช้ชุมชนการเรียนรู้เสมือนเป็นที่เก็บผลงานวิชาการ ตามลำดับ
กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นสอดคล้องกันสูงว่ามีความพึงพอใจมากต่อการออกแบบเว็บไซต์ชุมชนการเรียนรู้เสมือน โดยมีความพึงพอใจต่อการจัดรูปแบบในเว็บไซต์ที่ง่ายต่อการอ่านและการใช้งานเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ การใช้สีพื้นหลังและสีตัวอักษรที่ทำให้ง่ายต่อการอ่าน การใช้ขนาดและรูปแบบตัวอักษรที่ทำให้อ่านได้ง่าย และหน้าโฮมเพจมีความสวยงามน่าใช้ ตามลำดับ
กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นสอดคล้องกันสูงว่ามีความพึงพอใจมากต่อการใช้งานชุมชนการเรียนรู้เสมือน โดยมีความพึงพอใจมากที่สุดต่อการแสดงตัวเลขความถี่ในการเปิดอ่านบทความที่ท้ายบทความซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจนำข้อมูลไปใช้เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ การแสดงวันที่อัพโหลดบทความที่ท้ายบทความซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจนำข้อมูลไปใช้ การแสดงระดับความนิยมของบทความเป็นรูปดาวที่ท้ายบทความซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจนำข้อมูลไปใช้ การดาวน์โหลดข้อมูลที่ง่ายและสะดวก การสร้างเมนู“เนื้อหาล่าสุด” ทำให้เข้าถึงข้อมูลใหม่ได้ง่ายและสะดวก การสืบค้นข้อมูลที่ง่ายและสะดวก การสร้างเมนู “เนื้อหายอดนิยม” ทำให้เข้าถึงข้อมูลที่ได้รับความนิยมได้ง่ายและสะดวก การมีช่องทางติดต่อสอบถามและให้ข้อเสนอแนะที่เข้าถึงง่ายและสะดวก การมีช่องทางแสดง กฎ กติกา การใช้งานที่เข้าถึงง่ายและสะดวก และการอัพโหลดข้อมูลที่ง่ายและสะดวก ตามลำดับ ทั้งนี้ ในภาพรวมการใช้ประโยชน์และความพึงพอใจต่อชุมชนการเรียนรู้เสมือนในความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับพึงพอใจมาก
จากข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของกลุ่มตัวอย่างสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า ในส่วนของการสนทนาแบบทันทีทันใดหรือการแชทโดยต้องลงทะเบียนเข้าใช้ใหม่นั้น ค่อนข้างยุ่งยาก และในปัจจุบันมีเครือข่ายชุมชนมากมายที่สามารถสนทนาแบบทันทีทันใดได้ จึงควรใช้เครือข่ายชุมชนแทนเมนูสนทนาแบบเดิม
ข้อเสนอแนะ
การใช้ชุมชนการเรียนรู้เสมือนต้องมีผู้ดูแลชุมชนโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ดูแลชุมชนควรทำหน้าที่สร้างสรรค์กิจกรรมที่สามารถดึงดูดให้สมาชิกเข้าร่วมทำกิจกรรมในชุมชนได้
ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
- ในการวิจัยครั้งต่อไปควรมีการวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้มีการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในชุมชนการเรียนรู้เสมือน
- ในการวิจัยครั้งต่อไปอาจทดลองใช้เว็บโซเชียลเป็นเว็บชุมชนการเรียนรู้เสมือนแทนการพัฒนาเว็บขึ้นเอง