The Music Video Production with Cut-Out and Collage Animation Technique; Case Study Good Night Song (Ra Tri Sa Wad)

จัดทำโดย อาลาวีย์ ฮะซานี, ชญานิษฐ์ ทิพย์สุวรรณ และอาทิตยา ตรุษะ

ปีการศึกษา 2552


บทคัดย่อ (Abstract)

วัตถุประสงค์ของการจัดทำปริญญานิพนธ์เรื่อง การผลิตมิวสิควิดีโอเพลง ราตรีสวัสดิ์ ด้วยเทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัด (Cut-Out and Collage Animation) เพื่อเป็นสื่อกลางให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้คนในสังคมไทย มองกลับมาและทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ดังเช่นทหารที่ทำหน้าที่ปกป้องประเทศด้วยชีวิตของตน ซึ่งนำเสนอในรูปแบบแอนิเมชั่น 2 มิติ ด้วยเทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัด

การดำเนินการศึกษา การผลิตมิวสิควิดีโอเพลง ราตรีสวัสดิ์ ด้วยเทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัด มีความยาว 3 นาที ซึ่งดำเนินการผลิตโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ในการศึกษาได้มีที่ทำการวาดภาพ (Drawing) และนำไปทำการตกแต่ง กำหนดการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อลดความรุนแรงของภาพ สามารถเผยแพร่และเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมาก ตลอดจนสามารถสื่อเรื่องราวให้ดูน่าสนใจ และอธิบายเนื้อหาของบทเพลงได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และนำเสนอในรูปแบบ VCD ให้กับผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคนิคแอนิเมชั่น เพื่อทำการประเมินผล

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ศึกษาได้เข้าใจถึงกระบวนการผลิตมิวสิควิดีโอและเทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัด ได้อย่างน่าสนใจ การดำเนินเรื่องสอดคล้องกับเพลง และมีการหักมุมในตอนท้ายทำให้ มิวสิควิดีโอนี้ชวนให้ผู้ชมติดตามไปจนจบเพลง โดยสรุปผลการศึกษาได้จากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ


วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาการผลิตมิวสิควิดีโอ
  2. เพื่อศึกษากระบวนการผลิตแอนิเมชั่นโดยใช้เทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัด สำหรับการผลิตมิวสิควิดีโอ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ทราบถึงกระบวนการผลิตมิวสิควิดีโอ
  2. ทราบถึงกระบวนการผลิตแอนิเมชั่น โดยใช้เทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัด สำหรับ การผลิตมิวสิควิดีโอ

ขอบเขตการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาทำการผลิตมิวสิควิดีโอเพลงราตรีสวัสดิ์ ของศิลปินฟักกลิ้ง ฮีโร่ (ณัฐวุฒิ ศรีหมอก) ความยาว 3 นาที 30 วินาที ด้วยเทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัด (Cut-Out and Collage Animation) โดยใช้การวาดภาพ (Drawing) และทำการสแกนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ระบบปฏิบัติการ Microsoft Window XP CPU Intel[R] Core2Duo 2.66 GHz RAM 3.25GB ในการตกแต่งภาพ กำหนดการเคลื่อนไหว ใส่เอฟเฟ็ก กำหนดมุมกล้อง ตัดต่อและใส่เสียง โดยนำเสนอในรูปแบบ VCD ให้กับผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคนิคแอนิเมชั่น เพื่อทำการประเมินผล


อภิปรายผลการศึกษา

จากผลการศึกษา สามารถอภิปรายผลจากการศึกษาเป็นด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้

  1. ด้านการดำเนินเรื่อง
    จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญพบว่า การดำเนินเรื่องมีความน่าสนใจและเข้าใจการนำเนินเรื่องได้ดี อีกทั้งยังช่วยเพิ่มอารมณ์ร่วมกับเพลงมากขึ้นและการดำเนินเรื่องมีความสอดคล้องกับเพลงดี
  2. ด้านการออกแบบ
    จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญพบว่า การออกแบบของตัวละครมีความน่าสนใจและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะมาก ตัวละครมีความเหมาะสมกับเนื้อเรื่องมาก ส่วนการออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากมีความเหมาะอยู่ในระดับมากที่สุด ฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากบ่งบอกถึงสถานที่ มีการจัดองค์ประกอบและบ่งบอกถึงช่วงเวลาของการดำเนินเรื่องอย่างเหมาะสม
  3. ด้านการเคลื่อนไหว
    จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญพบว่า การเคลื่อนไหวของตัวละครมีความเหมาะสมและสมดุล ตัวละครเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องและเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับเพลงมาก ส่วนการเคลื่อนไหวของกล้องมีความต่อเนื่องและเหมาะสมกับเพลง การตัดต่อเนื้อหามีความต่อเนื่องสอดคล้องกับจังหวะของเพลงและเลือกใช้เทคนิคการส่งทอดเปลี่ยนฉาก (Transition) ได้อย่างดี
  4. รูปแบบการนำเสนอมิวสิควิดีโอ ด้วยเทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัด
    สรุปผลการศึกษาได้ว่า รูปแบบการนำเสนอมิวสิควิดีโอเพลง ด้วยเทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัดมีความแปลกใหม่ น่าสนใจและเทคนิคมีความเหมาะสมกับเนื้อเพลงอยู่ในเกณฑ์มากที่สุด

สรุปผลการศึกษา

ในการจัดทำปริญญานิพนธ์เรื่อง การผลิตมิวสิควิดีโอเพลง ราตรีสวัสดิ์ ด้วยเทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัด ผลออกมาอยู่ในเกณฑ์ดี ในการผลิตมิวสิควิดีโอต้องศึกษาเรื่องของเนื้อหาเพลงและตีความเนื้อเพลงจนเป็นเรื่องราว การดำเนินเรื่องจะต้องมีความกระชับ และการนำแอนิเมชั่นมาใช้ในการผลิตมิวสิควิดีโอจะต้องออกแบบตัวละครกับฉากต่างๆให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องของเพลง การเคลื่อนไหวต่างๆ ต้องต่อเนื่องและสัมพันธ์กับเพลง การตัดต่อจะต้องสัมพันธ์กับจังหวะของเพลง เลือกใช้ Transition ที่เหมาะสม จะช่วยทำให้มิวสิควิดีโอสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนการใช้เทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัด มีความแปลกใหม่ น่าสนใจและทำให้ผู้ชมรู้สึกติดตามมากขึ้น จากผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ

ข้อเสนอแนะ

  1. การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั้งกล้องและตัวแสดงหากเพิ่มจังหวะเร็ว ช้า มากกว่านี้จะช่วยให้งานดูน่าสนใจมากขึ้น
  2. ควรเพิ่มแสงเงาของเมฆและดวงจันทร์ เพื่อแยกฉากหรือวัตถุออกจากกัน
  3. จังหวะการเดินของตัวละครควรมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ เช่น วิ่ง เดิน มากกว่านี้
  4. ควรเพิ่มความน่าสนใจในการแพนกล้องเพื่อเชื่อมฉาก เช่น ซูมเข้าไปในมือถือของพ่อ เพื่อดึงไปสู่มือถือของลูกอีกฉากหนึ่ง โดยไม่หยุดกล้อง
  5. ควรมีการพากย์เสียงตรงส่วนของการสนทนาของพ่อกับลูก แล้วให้เสียงดนตรีคลอเบาๆ อาจช่วยทำให้เพิ่มอารมณ์ไปกับเพลงได้มากขึ้น
  6. การสแกนภาพเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ควรต้องความละเอียด 300 pixels/inch เพื่อความคมชัดและความสมบูรณ์ของภาพ
  7. ตัวละครหลักที่ต้องทำการเคลื่อนไหว ควรดราฟเส้นในโปรแกรม Adobe Illustrator โดยแยกส่วนข้อต่อของ ขา แขน และลำตัว แล้วทำการเซฟเป็นไฟล์ .ai เพื่อคงสัดส่วนของตัวละครให้เหมือนเดิม และมีสัดส่วนที่เท่ากัน และสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขในภายหลังได้ง่าย
  8. พื้นผิว (Texture) ลายกระดาษที่นำมาใช้ แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของเทคนิคแอนิเมชั่นภาพตัดได้ชัดเจน สามารถควบคุมโทนสีและอารมณ์ (Mood & Tone) ของมิวสิควิดีโอให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

รับชมผลงาน