The invention of clapboard with LED 7-segment display to facilitate for film production

จัดทำโดย กิตติภูมิ มุ่งสระกลาง

ปีการศึกษา 2552


บทคัดย่อ (Abstract)

สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ทุก ๆ ช๊อต และนำไปใช้ขบวนการตัดต่อคือสเลต โดยการถ่ายทำแต่ละช๊อต จะต้องเขียนข้อมูลการถ่ายทำให้อ่านง่าย ชัดเจน ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการนำข้อมูลการถ่ายทำไปใช้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้ศึกษาปริญญานิพนธ์ จึงได้คิดสร้างสเลตที่แสดงผลด้วยไดโอดเปล่งแสงแบบ 7 ส่วน เพื่อความสะดวกในใช้งาน และป้องกันข้อผิดพลาดที่เกิดจากการใช้สเลตแบบเขียน

ในการประดิษฐ์สเลต แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนของโครงสเลต โดยส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ออกแบบวงจรและสร้างแผนวงจรพิมพ์ด้วยโปรแกรม Eagle ใช้ไดโอดเปล่งแสงแบบ 7 ส่วน ขนาด 1 นิ้วและ 0.8 นิ้ว แสดงผลข้อมูลด้านหน้าสเลต และใช้จอ LCD ขนาด 20 ตัวอักษร 2 แถว แสดงผลด้านหลัง ใส่ข้อมูลการถ่ายทำโดยใช้สวิสต์ชนิดกดติดปล่อยดับ 26 ปุ่ม ที่อยู่ล่างจอ LCD ควบคุมการทำงานของวงจรด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ เบอร์ PIC16F877A วงจรใช้กำลังไฟขนาด 1.2 วัตต์ หากใช้แบตเตอรี่ชนิด PP3 9 โวลต์ ขนาด 320 mAh ใช้งานต่อเนื่องได้นาน 2½ – 4 ชั่วโมง ส่วนของโครงสเลต ออกแบบเป็นสามมิติ (3D) ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ตัวสเลตทำจากพลาสติกอะคริลิก หนา 3 มิลลิเมตร สีขาว สีแดงใส และสีดำ ประกอบแผ่นวงจรไว้ภายในโครงสเลต ประเมินผลจากการสัมภาษณ์ผู้ที่ทดลองใช้อุปกรณ์

ผลจากการทดลองใช้ และประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ปรากฏว่า สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการศึกษาตามที่คาดไว้ สามารถเพิ่มความสะดวกในการใช้งานสเลต แทนสเลตแบบเขียน ใช้ง่าย เพียงกดปุ่มก็สามารถตั้งค่าข้อมูลการถ่ายทำได้อย่างรวดเร็ว สามารถลดความผิดพลาดที่เกิดจากการเขียนข้อมูลการถ่ายทำบนสเลตได้ดี ทำให้สามารถเพิ่มความสะดวกในการผลิตภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กลางแจ้ง แต่สามารถใช้งานได้อย่างดีเยี่ยมในที่แสงน้อย


วัตถุประสงค์

สามารถประดิษฐ์สเลตที่แสดงผลด้วยไดโอดเปล่งแสงแบบ 7ส่วน เพื่อความสะดวกในการผลิตภาพยนตร์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานสเลต แทนสเลตแบบเขียน
  2. เพื่อลดความผิดพลาดที่เกิดจากการเขียนข้อมูลการถ่ายทำบนสเลต
  3. เพื่อประดิษฐ์สเลตที่แสดงข้อมูลการถ่ายทำได้ชัดเจนในบริเวณที่มีแสงน้อย

ขอบเขตของการศึกษา

ประดิษฐ์สเลตที่แสดงผลด้านหน้าด้วยไดโอดเปล่งแสงแบบ 7 ส่วน แถวบนแสดงเลข Roll, Scene, Cut 2 หลักและทศนิยม 1 หลัก ความสูง 1นิ้ว ตั้งค่าได้ตั้งแต่ 00.0 ถึง 99.F เลข Take 2 หลัก ความสูง 0.8นิ้ว ตั้งค่าได้ตั้งแต่ 00 ถึง 99 แถวล่างแสดงเลข FPS, องศาชัตเตอร์ 3 หลัก ตั้งค่าได้ตั้งแต่ 000 ถึง 999 ความสูง 0.8นิ้ว และ Int./Ext., Day/Night, Sync./MOS แสดงผลเป็นอักษร I/E, D/N, S/M ตามลำดับ ความสูง 0.8นิ้ว

ด้านหลังสเลตแสดงผลด้วยจอ LCD ชนิดมี Backlight ขนาด 20×2 แถวบนแสดง Roll, Scene, Cut ,Take แถวล่างแสดง FPS, องศาชัตเตอร์, Int./Ext., Day/Night และ Sync./MOS
ใช้แบตเตอรี่ชนิด PP3 9 โวลต์ ตั้งค่าต่างๆ ด้วยปุ่มที่อยู่ล่างจอ LCD 26 ปุ่ม ความคุมการทำงานด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontroller) รหัส PIC16F877A

ตัวสเลต ทำจากอะคริลิก (Acrylic) ขนาด 15 x 28 x 3.6 เซนติเมตร (ไม่รวมไม้ตี) นำสเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นทดลองถ่ายทำด้วยกล้อง Sony Z5 ในช็อตต่าง ๆ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการทำงาน และสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่ใช้งานสเลต นำผลที่ได้มาสรุปและวิเคราะห์ผล


สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ

การประดิษฐ์สเลตที่แสดงผลด้วยไดโอดเปล่งแสงแบบ 7 ส่วน เพื่อความสะดวกในการผลิตภาพยนตร์ ประเมิณผลโดยการนำสเลตทำการทดลองถ่ายทำด้วยกล้อง Sony Z5 ในช็อตต่าง ๆ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการทำงาน และสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่ใช้งานสเลต 4 ท่าน สามารถสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะได้ดังนี้

จากผลการประดิษฐ์สเลตที่แสดงผลด้วยไดโอดเปล่งแสงแบบ 7 ส่วน เพื่อความสะดวกในการผลิตภาพยนตร์ พบว่า สามารถช่วยเพิ่มความสะดวกในการผลิตภาพยนตร์ได้ดี แต่จะเห็นผลดังกล่าวได้อย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อผู้ใช้สเลต สามารถใช้สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นได้อย่างคล่องแคล่ว อันจะเกิดจากการใช้งานที่เป็นประจำจนถนัด ออกแบบได้สวย น่าใช้ ราคาต้นทุนการประดิษฐ์ไม่แพง สามารถเพิ่มความสะดวกในการใช้งานแทนสเลตแบบเขียน เนื่องจากไม่ต้องเขียนด้วยปากกา ดูสะอาดน่าใช้ เพียงกดปุ่มก็สามารถตั้งค่าตัวเลขข้อมูลการถ่ายทำได้อย่างรวดเร็ว สามารถลดความผิดพลาด ที่เกิดจากการเขียนข้อมูลการถ่ายทำบนสเลตได้ดี เนื่องจากตัวเลขที่แสดงผลด้วยไดโอดเปล่งแสงแบบ 7 ส่วนมีความชัดเจน เป็นสากล ไม่เกิดความสับสนในการนำไปใช้ แต่อาจเกิดความผิดพลาด หรือใช้งานได้ไม่สะดวก หากนำไปใช้ในพื้นที่กลางแจ้ง เพราะจะมองเห็นตัวเลขไม่ชัดเจน แต่ในทางกลับกันสเลตที่ประดิษฐ์ขึ้น สามารถใช้งานได้อย่างดีเยี่ยมในที่แสงน้อย เพราะไดโอดเปล่งแสงแบบ 7 ส่วน จะแสดงตัวเลขข้อมูลการถ่ายทำได้อย่างชัดเจนเนื่องจากมีความสว่างในตัว แต่สเลตแบบเขียนจะมองไม่เห็นตัวเลขข้อมูลการถ่ายทำ ต้องใช้แสงภายนอกช่วยให้มองเห็น ออกแบบโดยใช้พลาสติก ชนิดอะคริลิก ทำให้มีน้ำหนักมาก และยังไม่ค่อยแข็งแรง ถือด้วยมือเดียวไม่ถนัด ส่วนแสดงผล FPS Scene และองศาชัตเตอร์ ยังแสดงผลได้ไม่พอ ขาดไป 1 หลัก ควรออกแบบให้สเลตมีหลายขนาด ถ้าสามรถซิงค์เสียง บอกวันที่ได้จะดี ฟังก์ชั่นนาฬิกาเป็นความคิดที่ดี น่าใช้ แต่ควรตั้งปลุกได้ด้วย ควรใช้แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้เกินหกชั่วโมง และสามารถชาร์ตไฟได้ สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นมีชื่อยาวเกินไป

ข้อเสนอแนะ

  1. สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นใช้วัสดุภายนอกเป็นอะคริลิก มีน้ำหนักมาก และไม่แข็งแรงพอ สำหรับการใช้งานในสถานะการที่ต้องเร่งรีบ
  2. สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นมีขนาดเดียว ควรออกแบบให้มีหลายขนาด เพื่อรองรับการใช้งานในช่วงเลนส์ และระยะการถ่ายทำต่าง ๆ
  3. สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นชุดตัวเลขของ FPS และองศาชัตเตอร์ แสดงผลได้ 3 หลัก ซึ่งบางกรณีต้องใช้ 4 หลัก จึงเป็นข้อจำกัดการใช้งาน
  4. สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นไม่สามารถกันน้ำได้ ควรออกแบบให้สามารถกันน้ำได้ จะทำให้สามารถใช้สเลตได้ในมากขึ้น
  5. สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นใช้แบตเตอรี่ชนิด PP3 9 โวลต์ สามารถใช้งานได้ 2½ – 4 ชั่วโมง ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมที่มีความจุสูงกว่า ทำให้ใช้งานได้มากกว่า 6 ชั่วโมง
  6. สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นถือด้วยมือเดียวไม่สะดวก ควรออกแบบใหม่ให้สามารถถือมือเดียวได้ง่าย
  7. สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นไม่มีไฟพื้นหลังบริเวณที่ใช้เขียน หากใช้สเลตในที่แสงน้อยมากจะมองเห็นบริเวณที่เขียนไม่ชัด ถ้ามีไฟพื้นหลังจะใช้งานสเลตได้มากขึ้น สะดวกขึ้นเพราะไม่ต้องพกไฟฉายคอยส่องที่บริเวณที่เขียน
  8. สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นแสดงผลตัวเลขในพื้นที่กลางแจ้งไม่สว่าง จนอาจมองตัวเลขไม่เห็นหากถูกแดด ถ้าทำให้สเลตแสดงผลตัวเลข สว่างจนสามารถใช้กลางแจ้งได้จะทำให้สเลตใช้งานได้มากขึ้น
  9. สเลตที่ประดิษฐ์ขึ้นไม่สามารถซิงค์เสียงได้ หากสามารถซิงค์เสียงได้จะเป็นประโยชน์ในการใช้งานอย่างมาก และสามารถใช้ทดแทนสเลตแบบมีรหัสเวลา ที่มีราคาแพงและต้องซื้อจากต่างประเทศ

รับชมผลงาน