The multimedia production for disseminate Mae Mai Muay Thai martial art by 2-Dimension Animation technique

จัดทำโดย ชโย พุ่มสลุด และ วิตติ บุญคำ

ปีการศึกษา 2552


บทคัดย่อ

มวยไทย เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชาวไทยมาอย่างช้านาน บรรพชนของเราก็ใช้มวยไทยในการป้องกันประเทศ แต่ในปัจจุบันมวยไทยกลับถูกมองไปในการชกหาเลี้ยงชีพมากกว่าศิลปะการต่อสู้อันล้ำค่าและกำลังค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไปจากชาวไทย และที่มากกว่านั้นคนสมัยนี้มองศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยว่า เป็นศาสตร์การต่อสู้ที่มีความรุนแรง จึงหาผู้สืบทอดต่อได้ยากยิ่ง ดังนั้นสื่อมัลติมีเดียแม่ไม้มวยไทยนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่ออนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้อันมีค่านี้ให้คงไว้สืบไป

ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการศึกษาค้นคว้า เก็บรวบรวมข้อมูลมวยไทย ทำผังการทำงานคร่าวๆ ออกแบบตัวละครและฉากหลัง เพื่อกำหนดการดำเนินเนื้อหาสื่อมัลติมีเดีย จากนั้นลงพื้นที่ถ่ายทำ วีดีทัศน์แม่ไม้มวยไทยเพื่อจำลองการเคลื่อนไหวของมนุษย์ วาดภาพนิ่งตามการจำลองการเคลื่อนไหวโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 2 มิติ สร้างฉากหลังจากโปรแกรมแอนิเมชั่นคอมพิวเตอร์ 3 มิติ แล้วนำทุกอย่างไปรวมกันในโปรแกรมตัดต่อภาพและเสียง จากนั้นนำผลงานสำเร็จไปทดสอบคุณภาพกับผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านสื่อมัลติมีเดีย และด้านมวยไทย ก่อนประเมินหาข้อสรุปผลการศึกษา

จากการศึกษาและจัดทำปริญญานิพนธ์ทำให้คณะผู้ศึกษาได้ทราบถึงกระบวนการสร้างสื่อมัลติมีเดียประเภทแอนิเมชั่นโดยเทคนิคแอนิเมชั่น 2 มิติมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถนำไปใช้งานได้จริง สร้างความเข้าใจของการออกท่าแม่ไม้มวยไทยได้ และยังถือว่า เป็นแนวทางใหม่ในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยได้อีกด้วย


วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาการสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้ “แม่ไม้มวยไทย”
  2. เพื่อศึกษาเทคนิคการสร้างสื่อมัลติมีเดียประเภทแอนิเมชั่น โดยเทคนิคแอนิเมชั่น 2 มิติ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ได้สื่อมัลติมีเดียเพื่อเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้ “แม่ไม้มวยไทย”
  2. ได้ทราบถึงกระบวนการผลิตสื่อมัลติมีเดียประเภทแอนิเมชั่น 2 มิติ ด้วยเทคนิค แอนิเมชั่น 2 มิติ

ขอบเขตการศึกษา

ผลิตสื่อมัลติมีเดียเพื่อเผยแพร่ท่าการต่อสู้ศิลปะแม่ไม้มวยไทย 15 ท่า จากศูนย์อนุรักษ์ศิลปะมวยไทยแห่งชาติ ด้วยเทคนิคการแอนิเมชั่น 2 มิติ โดยเริ่มจากการบันทึกวีดีทัศน์ท่าศิลปะแม่ไม้มวยไทยจากผู้อนุรักษ์มวยไทยในศูนย์อนุรักษ์ศิลปะมวยไทย จากนั้นนำวีดีทัศน์ที่ได้ มาคัดลอกลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหว และผลิตออกมาในรูปแบบสื่อมัลติมีเดียประเภทแอนิเมชั่น 2 มิติ

จากนั้นนำสื่อมัลติมีเดียไปทดสอบคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ แบ่งออกเป็น

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเนื้อหาแม่ไม้มวยไทย
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุณภาพสื่อมัลติมีเดีย

แล้วนำสื่อมัลติมีเดียมาปรับปรุงเพื่อเผยแพร่ต่อไป


สรุปผลการศึกษา

จากการศึกษาและจัดทำปริญญานิพนธ์ เรื่อง การสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทย โดยเทคนิคแอนิเมชั่น 2 มิติ (2D Animation) คณะผู้จัดทำได้ทราบถึงกระบวนการ วิธีการผลิตสื่อมัลติมีเดียประเภทแอนิเมชั่น 2 มิติ รวมถึงเทคนิคการผลิตแอนิเมชั่น 2 มิติ และสามารถนำเสนอในรูปแบบของสื่อมัลติมีเดียได้เป็นอย่างดี ได้ทราบถึงแนวคิดการออกแบบตัวละคร ฉาก และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่นำมาใช้ในการประกอบสื่อมัลติมีเดียนี้ อีกทั้งยังมีความเข้าใจในศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยว่า มีความเป็นมาอย่างไร และสามารถช่วยอนุรักษ์ศิลปะอันล้ำค่านี้ให้คงไว้ได้ในอนาคต

อภิปรายผลจากการศึกษาการตอบแบบสอบถามคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมัลติมีเดีย

จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า สื่อมัลติมีเดียนี้สามารถเข้าใจง่าย ถึงแม้ว่าความน่าสนใจของตัวสื่อจะอยู่ในระดับพอใช้ การออกแบบอยู่ในระดับพอใช้ เนื่องจากตัวละคร 2 ตัวนี้มีความคล้ายคลึงกันมากเกินไป ฉากหลังยังดูเด่นกว่าตัวละคร และฉากหลังควรปรับปรุงเรื่องการจัดองค์ประกอบให้ดีกว่านี้ การเคลื่อนไหวของตัวละครอยู่ในเกณฑ์ดี คณะผู้ทรงคุณวุฒิต่างลงความเห็นว่า สื่อมัลติมีเดียนี้สามารถป้องกันอันตรายจากท่าแม่ไม้มวยไทยหากใช้กับคนจริงในการแสดงได้ ที่สำคัญคณะผู้ทรงคุณวุฒิพอเข้าใจว่าท่าต่างๆ ของแม่ไม้มวยไทย ต้องออกอาวุธอย่างไร ใช้อย่างไร ผู้ทรงคุณวุฒิต่างลงความเห็นคล้ายกันว่า สื่อมัลติมีเดียประเภทแอนิเมชั่น 2 มิติ สามารถนำมาเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยได้ ซึ่งสามารถสร้างความภูมิใจให้กับคณะผู้ทรงคุณวุฒิได้เป็นอย่างดี และสุดท้าย คือ ความสวยงามของสื่อมัลติมีเดีย ความสมจริงของเสียง และความเข้ากันของดนตรีประกอบกับชิ้นงาน รวมไปถึงการแสดงถึงความสวยงามทางวัฒนธรรมของนักมวยที่แสดงความเคารพต่อกันอยู่ในเกณฑ์ดี

อภิปรายผลจากการศึกษาการตอบแบบสอบถามผู้ทรงคุณวุฒิด้านมวยไทย

จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า สื่อมัลติมีเดียนี้สามารถเข้าใจได้ง่าย ตัวละครและฉากมีความเหมาะสมกับยุคสมัยของมวยไทยที่นำเสนอ การเคลื่อนไหวต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิลงความเห็นว่า สื่อมัลติมีเดียนี้สามารถป้องกันอันตรายจากท่าแม่ไม้มวยไทยหากใช้กับคนจริงในการแสดงได้ นอกจากนี้ยังสามารถอธิบายได้อย่างดีเยี่ยมว่า ท่าต่าง ๆ ของแม่ไม้มวยไทยนั้น ต้องออกอาวุธอย่างไร สื่อมัลติมีเดียนี้สามารถสร้างความภูมิใจในศิลปะการต่อสู้ประจำชาติได้อย่างดีเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิลงความเห็นว่า ควรใช้สื่อมัลติมีเดียประเภทแอนิเมชั่น 2 มิติ ในการเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยนี้ และสุดท้ายความถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลด้านมวยไทยนั้นอยู่ในระดับที่ดีเยี่ยม เสียตรงจุดที่ว่า ตัวละครที่เป็นนักมวยนั้นไม่ได้ใส่ประเจียดให้ถูกต้องตามหลักนักมวยโบราณเพียงแค่นั้น

ข้อเสนอแนะ

  1. ตัวละครนักมวยทั้ง 2 น่ามีความแตกต่างกันมากกว่านี้ เนื่องจากหาดูแค่ผิวเผิน จะไม่สามารถแยกตัวละครทั้ง 2 ออกได้ว่า ใครกำลังทำอะไรและฝ่ายไหนที่ถูกชก
  2. ฉากหลังควรให้ความสนใจในการออกแบบมากกว่านี้ เนื่องจากขาดรายละเอียดของสถานที่ จึงทำให้ตัวงานมีความน่าสนใจน้อยลง
  3. ควรเพิ่มความน่าสนใจในตัวชิ้นงานให้มากขึ้น เช่น การพากย์เสียงเพื่อบรรยายท่าทาง การใส่ภาพกราฟิกที่เคลื่อนไหวระหว่างหยุดภาพ การลงรายละเอียดฉากหลังให้ชัดเจน เป็นต้น
  4. จังหวะการหยุดภาพเพื่ออธิบายภาพ ยังคงนิ่งเกินไป ซึ่งสามารถเพิ่มลูกเล่นกราฟิกได้มากกว่านี้
  5. ควรศึกษาถึงสรีระกล้ามเนื้อให้ถูกต้องมากกว่านี้ เพราะระหว่างผู้ชกและผู้ถูกชก จะมีการเกร็งกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน
  6. ชื่อท่าและคำบรรยายทั้งหมด ควรมีภาคภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยให้กับชาวต่างชาติที่สนใจ
  7. ควรมีการพากย์เสียงถึงชื่อท่าแม่ไม้มวยไทย รวมไปถึงในตอนบรรยายตอนต้น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของชิ้นงาน
  8. ควรมีคำแนะนำถึงอันตรายจากการกระทำเลียนแบบท่าทางในสื่อในตอนต้น เนื่องจากท่าต่าง ๆ ของแม่ไม้มวยไทยมีความรุนแรงสูง หากพลาดพลั้งอาจถึงเสียชีวิตได้
  9. ควรเพิ่มการบรรยายที่มาและที่ไปของท่าแม่ไม้มวยไทยแต่ละถ้า เพื่อให้ผู้รับสื่อนั้นสามารถเข้าใจในศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยมากยิ่งขึ้น

รับชมผลงาน